ทั้งนี้ การสำรวจดังกล่าวถูกจัดทำขึ้นเป็นปีที่สามติดต่อกัน โดยได้สอบถามความคิดเห็นของนักลงทุนและนักวิเคราะห์จำนวน 345 รายจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกแบ่งตามภูมิศาสตร์ ประเภทสินทรัพย์ และวิธีการลงทุน เพื่อหาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลกระทบมากที่สุดต่อบริษัทที่พวกเขาลงทุน
ผลสำรวจพบว่าแม้ว่าความกังวลด้านเศรษฐกิจมหภาคและเงินเฟ้อยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่สุด แต่ก็ได้ผ่อนคลายลงจากระดับสูงสุดในปี 2565 ในขณะที่ในปี 2566 ความกังวลด้านความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ (climate risks) เพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับความเสี่ยงทางไซเบอร์ที่ 32%
ในขณะเดียวกัน การสำรวจได้แสดงให้เห็นถึงภูมิทัศน์การลงทุนที่ขับเคลื่อนด้วยการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดย 59% ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเป็นปัจจัยที่มีแนวโน้มมากที่สุดที่จะมีอิทธิพลต่อการสร้างมูลค่าของบริษัทต่าง ๆ ในอีกสามปีข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 61% กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence: AI) มาใช้เร็วขึ้นนั้นมีความ "สำคัญมาก" หรือ "สำคัญอย่างยิ่ง"
ความยั่งยืนยังคงเป็นหัวใจสำคัญสำหรับนักลงทุน โดย 75% กล่าวว่า วิธีที่บริษัทจัดการความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุน แม้ว่าจะลดลง 4% จากปีก่อนก็ตาม
"เรากำลังย้ายจากช่วงเวลาของการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ไปสู่ช่วงเวลาที่นักลงทุนถามคำถามเฉพาะเจาะจงและยากมากขึ้นเกี่ยวกับวิธีการที่บริษัทต่าง ๆ จัดการกับปัญหาเหล่านั้นในเชิงกลยุทธ์ รวมไปถึงวิธีที่พวกเขาประเมินความเสี่ยงและโอกาส และสิ่งสำคัญที่แท้จริงสำหรับธุรกิจ ซึ่งในบริบทนี้ การรายงานขององค์กรจำเป็น ต้องมีการพัฒนาต่อไปเพื่อให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ สม่ำเสมอ และเปรียบเทียบได้แก่นักลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ สามารถพึ่งพาได้" นาย เจมส์ ชาลเมอร์ส หัวหน้าสายงานตรวจสอบบัญชีระดับโลก PwC ประเทศสหราชอาณาจักร กล่าว
นักลงทุนมองหามาตรฐานการรายงานที่ดีขึ้นท่ามกลางความกังวลเรื่องการฟอกเขียว
นอกจากนี้ นักลงทุนยังได้เน้นย้ำถึงข้อสงสัยอันรุนแรงเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของการรายงานความยั่งยืนและข้อมูลที่พวกเขาใช้ ซึ่งเรียกกันว่า "การฟอกเขียว" (greenwashing)[1] โดยนักลงทุน 94% เชื่อว่า การรายงานขององค์กรเกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนมีการกล่าวอ้างที่ไม่มีหลักฐานสนับสนุนในระดับหนึ่ง (เพิ่มขึ้นจาก 87% ในปี 2565) รวมถึง 15% ที่คิดว่า คำกล่าวอ้างเหล่านั้นมีอยู่ในระดับ "สูงมาก" ขณะที่สัดส่วนที่กล่าวว่าการกล่าวอ้างที่ไม่ได้รับการสนับสนุนมีอยู่ในระดับปานกลางหรือมากกว่านั้น เพิ่มขึ้นหนึ่งเปอร์เซ็นต์จากปีที่ก่อนที่ 79%
การตระหนักรู้เกี่ยวกับการฟอกสีเขียวเหล่านี้อาจอธิบายได้ว่า ทำไมนักลงทุนจึงมองหาหน่วยงานกำกับดูแลและผู้กำหนดมาตรฐานเพื่อสร้างความชัดเจนและความสม่ำเสมอในการรายงานของบริษัทต่าง ๆ โดยนักลงทุน 57% กล่าวว่า หากบริษัทปฏิบัติตามกฎระเบียบและมาตรฐานต่าง ๆ (รวมถึงข้อบังคับด้านการรายงานความยั่งยืนขององค์กรในสหภาพยุโรป (Europe's Corporate Sustainability Reporting Directive: CSRD) หรือ การที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของประเทศสหรัฐอเมริกา เสนอกฎการเปิดเผยสภาพภูมิอากาศในสหรัฐฯ และมาตรฐานสากลด้านความยั่งยืน (ISSB standards)) ก็จะตอบสนองความต้องการข้อมูลของพวกเขาสำหรับการตัดสินใจในระดับ "สูง" หรือ "สูงมาก" นอกจากนี้ นักลงทุน 85% กล่าวว่า การได้รับการตรวจสอบอย่างสมเหตุสมผล (คล้ายกับการตรวจสอบงบการเงิน) จะทำให้พวกเขามีความมั่นใจในการรายงานความยั่งยืนในระดับ "ปานกลาง" "มาก" หรือ "มากที่สุด"
ทั้งนี้ นักลงทุนยังให้ความสำคัญกับต้นทุนเพื่อปฏิบัติตามข้อผูกพันด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดย 76% พบว่าข้อมูลนี้สำคัญหรือสำคัญมาก โดยนักลงทุนต้องการข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของบริษัทที่มีต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อม และในจำนวนนั้น 75% เห็นด้วยว่า บริษัทควรเปิดเผยมูลค่าทางการเงินของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสังคม เพิ่มขึ้นจาก 66% ในปี 2565
นักลงทุนหนุนการนำเอไอมาใช้งานอย่างรวดเร็ว แม้มีความเสี่ยง
ผลการสำรวจในปี 2566 ยังแสดงให้เห็นว่านักลงทุนมองว่าการนำเอไอมาใช้มีความสำคัญต่อการสร้างมูลค่า ขณะเดียวกันก็ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการความเสี่ยง โดยนักลงทุน 61% กล่าวว่า การนำเอไอมาใช้งานอย่างรวดเร็วนั้นมีความ "สำคัญมาก" หรือ "สำคัญอย่างยิ่ง" และเมื่อรวมคำตอบที่ระบุว่า "สำคัญปานกลาง" ตัวเลขก็เพิ่มขึ้นเป็น 85% นอกจากนี้ นักลงทุนยังระบุว่า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (59%) เป็นปัจจัยที่มีแนวโน้มมากที่สุดที่จะมีอิทธิพลต่อวิธีที่บริษัทต่าง ๆ สร้างมูลค่าในช่วงสามปีข้างหน้า นอกจากนี้ นักลงทุนยังจัดอันดับให้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเกิดใหม่ (รวมถึง เอไอ เมตาเวิร์ส และบล็อกเชน) อยู่ในลำดับความสำคัญห้าอันดับแรกเมื่อประเมินบริษัทต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม 86% มองว่า เอไอนำมาซึ่งความเสี่ยงอย่างมากตั้งแต่ระดับ "ปานกลาง" ถึง "มาก" ในเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลและความเป็นส่วนตัว การกำกับดูแลและการควบคุมไม่เพียงพอ (84%) ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง (83%) และอคติและการเลือกปฏิบัติ (72%)
"เราเห็นขั้นตอนสำคัญในการนำไปสู่การรายงานที่สอดคล้องกันมากขึ้นจากบริษัทต่าง ๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม ยังมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงต่อไป ในขณะเดียวกัน นักลงทุนยังได้เรียกร้องให้มีการมีส่วนร่วมมากขึ้นเกี่ยวกับวิธีที่บริษัทต่าง ๆ จัดการโอกาสและความเสี่ยงของเทคโนโลยีใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง generative AI เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและการลงทุนเพิ่มมากขึ้น" นาง นัดยา พิคาร์ด หัวหน้ากลุ่มธุรกิจการรายงานระดับโลก PwC ประเทศเยอรมนี กล่าว
ด้านนาย ชาญชัย ชัยประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร PwC ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันนักลงทุนและภาคธุรกิจไทยตื่นตัวและตระหนักถึงผลกระทบด้าน ESG เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่บริษัทขนาดกลางถึงขนาดเล็กอาจจะยังขาดความเข้าใจเชิงลึกในส่วนของรายละเอียดของการจัดทำรายงานความยั่งยืนอยู่บ้าง ในขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลก็ส่งเสริมให้บริษัทต่าง ๆ มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนที่ได้รับการตรวจสอบอย่างสมเหตุสมผล เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนก่อนนำข้อมูลไปใช้
"ภายในสองถึงสามปีข้างหน้า เราคาดว่าน่าจะเริ่มเห็นทั่วโลกเริ่มมีการตรวจสอบและการให้คำรับรองจากผู้ตรวจสอบก่อนที่จะมีการเปิดเผยรายงานความยั่งยืนภายหลังจากที่หน่วยงานกำกับของแต่ละประเทศมีการออกกฎระเบียบและมาตรฐานบังคับใช้ที่ชัดเจนแล้ว" นาย ชาญชัย กล่าว
"ในส่วนของประเทศไทย ความต้องการรายงานความยั่งยืนของนักลงทุนต่างชาติที่เพิ่มขึ้นจะเป็นแรงผลักดันให้หน่วยงานกำกับออกกฎระเบียบข้อบังคับให้จัดทำรายงานที่เป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ทุก ๆ บริษัทจะต้องทำ คือ ศึกษาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผลกระทบของ ESG ต่อธุรกิจ และมาตรฐานของการจัดทำรายงานความยั่งยืน ซึ่งหากธุรกิจไหนตื่นตัวก่อน และดำเนินการครอบคลุมทุก ๆ มิติของ ESG ก็จะมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งรายอื่น แต่อย่างที่เราทราบดีว่า ไม่มีกลยุทธ์ความยั่งยืนไหนที่ one size fits all และจะต้องถูกผลักดันอย่างต่อเนื่องจากผู้บริหารระดับบนลงมาสู่ฝ่ายอื่น ๆ ในองค์กร" นาย ชาญชัย กล่าว
[1] การทำให้ผู้บริโภคและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าใจผิดด้วยการโฆษณาสร้างภาพลักษณ์ให้เชื่อว่า สินค้า เป้าหมาย และนโยบายขององค์กร มีความรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ที่มา: PwC Thailand