นักวิจัย ม.ทักษิณ และคณะ ค้นพบ "เห็ดกรวยส้มทักษิณา" เห็ดชนิดใหม่ของโลก ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง

พุธ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๗ ๑๑:๒๐
อาจารย์ ดร.ภูมิน นุตรทัต คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ จับมือ ดร.นครินทร์ สุวรรณราช และ ดร.จตุรงค์ คำหล้า สำนักงานบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัณณิดา ขุนนามวงษ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกันสำรวจและศึกษาวิจัยจนค้นพบ "เห็ดกรวยส้มทักษิณา" เห็ดชนิดใหม่ของโลก ซึ่งจัดอยู่ในสกุล Gloeocantharellus ที่ขึ้นอยู่ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง  จากความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในพื้นที่ คาดว่าจะพบเห็ดชนิดใหม่อีกหลายชนิดที่รอการยืนยันและการศึกษาเชิงลึกต่อไป
นักวิจัย ม.ทักษิณ และคณะ ค้นพบ เห็ดกรวยส้มทักษิณา เห็ดชนิดใหม่ของโลก ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง

การศึกษาวิจัยในครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อใช้เป็นข้อมูลฐานชีวภาพภายในมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง และใช้เป็นข้อมูลเปรียบเทียบระบบนิเวศป่าสาคู ซึ่งอยู่ภายใต้หัวข้อวิจัย "เห็ดป่าในป่าสาคูจังหวัดพัทลุงสู่การนำไปใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาต่อยอดทางอุตสาหกรรมเกษตร" เพื่อศึกษาความหลากชนิดของเห็ดในป่าสาคู ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยมูลฐาน (Fundamental Fund) ประจำปีงบประมาณ 2566 จากมหาวิทยาลัยทักษิณ

ทีมวิจัยยังได้สำรวจความหลากชนิดของเห็ดเบื้องต้นในรั้วมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง และจากการสำรวจและวิจัยของทีมวิจัยได้ค้นพบเห็ดชนิดใหม่ของโลก "เห็ดกรวยส้มทักษิณา" ซึ่งจัดอยู่ในสกุล Gloeocantharellus ที่เป็นเห็ดเอกโตไมคอร์ไรซากับพืชถิ่นของมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง โดยตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "Gloeocantharellus thailandensis" ทั้งยังเป็นการรายงานครั้งแรกของเห็ดสกุลนี้ในประเทศไทยอีกด้วย

ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ได้ใช้หลักอนุกรมวิธานสมัยใหม่ในการบ่งบอกชนิดเห็ดสกุลนี้ จากข้อมูลสัณฐานวิทยาร่วมกับศึกษาข้อมูลทาง DNA ของลำดับนิวคลีโอไทด์ของยีนไรโบโซม internal transcribed spacer (ITS) และ large subunit (LSU) รวมถึงการใช้ลำดับนิวคลีโอไทด์ของโปรตีนในส่วน mitochondrial ATPase subunit 6 เพื่อใช้ศึกษาแผนภูมิวิวัฒนาการของเห็ดสกุลนี้ จนสามารถยืนยันได้ว่าเห็ดที่ศึกษานี้เป็นเห็ดชนิดใหม่ของโลก
ปัจจุบันเห็ดสกุล Gloeocantharellus มีรายงานการค้นพบแล้ว 19 ชนิดทั่วโลก โดยเห็ดชนิดใหม่ที่ค้นพบในมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ถือเป็นชนิดที่ 20 ที่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสมาชิกใหม่ของโลก และงานวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ในหัวข้อ "Gloeocantharellus thailandensis (Gomphaceae, Gomphales), a new macrofungus from southern Thailand"

จากการศึกษาความหลากชนิดของเห็ดเบื้องต้นในครั้งนี้ยังพบเห็ดที่คาดว่าเป็นเห็ดชนิดใหม่อีกหลายชนิดในรั้วมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ที่รอการยืนยันชนิดและการศึกษาเชิงลึกต่อไป

การพบเห็ดชนิดนี้อยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ถือเป็นการสะท้อนบ่งบอกว่าพื้นที่ของมหาวิทยาลัยมีความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศเป็นอย่างดี และสมควรที่จะต้องดูแลรักษาไว้ โดยมหาวิทยาลัยทักษิณสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐานเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และสนับสนุนการจัดการพื้นที่สีเขียวภายในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ของมหาวิทยาลัยยังคงเป็นพื้นที่สีเขียวมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่มหาวิทยาลัยทั้งหมด

ที่มา: มหาวิทยาลัยทักษิณ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ