ดังนั้นโครงการ TRM จึงไม่เพียงให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรในการทำงานวิจัย แต่ยังรวมไปถึงการร่วมสร้างการศึกษาตามความต้องการของผู้ใช้ (Co-Creation) โดยดึงสถานประกอบการมาเป็นหุ้นส่วนในการจัดการศึกษา อาศัยแผนการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของสถานประกอบการ มาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในพัฒนาหลักสูตรร่วมที่เรียกว่าพรีเมี่ยมคอร์ส (Premium Course) ภายใต้แนวคิดของการมีงานทำตั้งแต่ก่อนสำเร็จการศึกษา โดยสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะการันตีการมีงานทำของนักศึกษา ดำเนินการบรรจุนักศึกษาที่ร่วมโครงการเป็นพนักงาน ได้รับเงินเดือนและสวัสดิการจากสถานประกอบการ และได้รับการศึกษาจากทั้งสถานประกอบการและมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ ความโดดเด่นของหลักสูตรพรีเมี่ยมคอร์ส ของ 9 มทร. คือ สถานประกอบการ หรือกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรม สามารถมั่นใจได้ว่า นักศึกษาที่เข้าเรียนในหลักสูตรนี้ จะมีสมรรถนะในการปฏิบัติงานตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ และสถานประกอบการจะมีกำลังคนทดแทนการขาดแคลนแรงงานได้ทันทีเมื่อเข้าร่วมโครงการ
ประธานทปอ.มทร.กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน 9 มทร. มีการพัฒนาและดำเนินการหลักสูตรพรีเมี่ยมคอร์ส (Premium Course) แล้ว 26 หลักสูตร ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ อิเล็คทรอนิกส์ และดิจิตัล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หรือขาดแคลนกำลังคนที่มีทักษะเฉพาะด้าน หลักสูตรนี้ไม่เพียงแต่สร้างอัตถประโยช์และยกระดับสถานประกอบการเท่านั้น แต่ยังสามารถยกระดับสถาบันการศึกษาระดับอาชีวศึกษา และสร้างโอกาสแก่นักศึกษาระดับอาชีวศึกษาให้สามารถเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง มีงานทำ ลดปัญหาการขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อการเข้าเรียนในระดับที่สูงขึ้น ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2564 - 2566 ภายใต้ระบบการบริหารจัดการและการติดตามการดำเนินการของ TRM Platform หลักสูตรพรีเมี่ยมคอร์ส มีการสร้างเครือข่ายกับสถานประกอบการ 36 แห่ง สถาบันอาชีวศึกษา 48 แห่ง โรงเรียนมัธยม 6 โรงเรียน และมีนักศึกษาในระบบที่ทำงานในสถานประกอบการทั้งสิ้น 662 คน
ที่มา: แมวกวัก