นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการบริหาร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการแลกเปลี่ยนความรู้ ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ระหว่าง บพท. กับ มหาวิทยาลัยกว่างซี แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ในวันที่ 18 มกราคม 2567 นี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการประสานความร่วมมือกันของหน่วยราชการ 2 ประเทศในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมร่วมกัน เพื่อนำสู่การแก้ปัญหาความยากจนให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมร่วมกัน บนพื้นฐานความเท่าเทียมและผลประโยชน์ร่วมกัน
"เหตุผลสำคัญที่เราเลือกทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกว่างซี มณฑลกว่างซี เป็นเพราะมณฑลกว่างซี กับประเทศไทยมีความใกล้เคียงกันมากทั้งด้านวัฒนธรรม หลักคิดความเชื่อค่านิยม ตลอดจนสภาพภูมิประเทศ ขนาดพื้นที่ รวมทั้งขนาดประชากร ซึ่งภายใต้ความร่วมมือระหว่างกันของ บพท. และมหาวิทยาลัยกว่างซี จะนำความรู้ด้านการแก้ปัญหาความยากจนไปใช้ในพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์ 7 จังหวัด เป็นพื้นที่นำร่อง ได้แก่กาฬสินธุ์ ลำปาง มุกดาหาร ร้อยเอ็ด พัทลุง ปัตตานี และยะลา ก่อนที่จะขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศต่อไป"
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. ชี้แจงเพิ่มเติมว่าสาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ตั้งมั่นบนเจตนารมณ์ร่วมกันในการเสริมสร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหาความยากจนระหว่างฝ่ายต่างๆ ด้วยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม บนพื้นฐานความเท่าเทียมและผลประโยชน์ร่วมกัน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิด องค์ความรู้ ประสบการณ์ เงื่อนไขความสำเร็จ โครงสร้างพื้นฐาน และกระบวนการในการแก้ไขปัญหาความยากจนระหว่างฝ่ายต่างๆ ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ตลอดจนมุ่งส่งเสริมความร่วมมือรูปแบบใหม่ระหว่างสถาบันการวิจัย เพื่อมุ่งบรรลุเป้าหมายในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือร่วมกันแบบทวิภาคี ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการแลกเปลี่ยนความรู้ในการแก้ไขปัญหาความยากจน
"ขอบเขตความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนระหว่าง บพท. กับ มหาวิทยาลัยกว่างซี ครอบคลุม 4 มิติคือ 1).มิติของความร่วมมือกันด้านองค์ความรู้ และบัญชีรายชื่อนวัตกรรมตลอดจนเทคโนโลยีที่เหมาะสม ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับปัญหาความยากจน 2).มิติของผลผลิต ห่วงโซ่คุณค่า และกระบวนการในการแก้ปัญหาความยากจน 3). มิติต้นแบบพื้นที่หรือหมู่บ้านที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาความยากจน อย่างน้อย 1 แห่ง 4). มิติความร่วมมือด้านอื่นๆที่เห็นชอบร่วมกัน"
ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวด้วยว่าการลงนามบันทึกความเข้าใจกับมหาวิทยาลัยกว่างซี แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน นับเป็นปฐมบทของการเปิดประตูเชื่อมโยงองค์ความรู้แก้ปัญหาความยากจนของประชาคมนักวิจัยไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน
"บพท. มีความคาดหวังและตั้งใจจะต่อยอดขยายผลชุดความรู้จากงานวิจัยแก้จน ออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เพื่อใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศเพื่อนบ้านของเรา"
ที่มา: วิเสจ