นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา กล่าวว่า "ตนรู้สึกยินดีและภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมถึงดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ความสำคัญและเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปีที่นายกรัฐมนตรีของไทยเดินทางเข้าร่วมและมีบทบาทในการแสดงศักยภาพของรัฐบาลไทยต่อเวทีโลก ทำให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและโอกาสใหม่ ๆ โดยเฉพาะนโยบายหลักด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงเรื่อง "เศรษฐกิจดิจิทัล" ที่ทางภาครัฐให้ความสำคัญในการนำเทคโนโลยี AI และ Blockchain มาปรับใช้ในการดำเนินงานเพื่อให้เข้ากับยุคดิจิทัล ของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน พร้อมทั้งมีผู้บริหารจากบริษัทชั้นนำของประเทศไทยที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมด้วย อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี), ไทยเบฟเวอเรจ, ปตท., บางจาก, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย, บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป, เอสซีจี และอินโดรามา เวนเจอร์ส เพื่อร่วมหารือถึงแนวทางในการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาในระดับนานาชาติอีกด้วย"
โดยเมื่อวานนี้ เวลา 23.00 น. ตามเวลาประเทศไทย "ท๊อป จิรายุส" ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ "Clear-Eyed about Crypto" เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลที่เหมาะสมทั้งต่อการส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจและปกป้องผู้บริโภค รวมถึงทิศทางของอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนระดับโลก โดยมีผู้ร่วมเสวนา ดังนี้ คุณ Michael Sonnenshein ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) Grayscale Investments, คุณ Paul Mo-po Chan, Financial Secretary, The Government of the Hong Kong Special Administrative Region (HKSAR), คุณ Brad Garlinghouse ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) Ripple และ คุณ Inga Mullins ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Founder and CEO) Fluency Group
นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา กล่าวถึง 3 ประเด็นสำคัญของสินทรัพย์ดิจิทัลบนเวทีโลกว่า "ประเด็นแรกคือการสร้างมาตรฐานของกฎระเบียบและข้อบังคับในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลขึ้นมา เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของคริปโทเคอร์เรนซีได้อย่างเต็มที่และไม่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งประเทศไทยโชคดีที่มีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำกับดูแลอุตสาหกรรมนี้ให้ถูกกฎหมายและมีสถาบันการเงินอีก 2 แห่งเข้ามาให้บริการในตลาดด้วย จึงมั่นใจว่าจะมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ถูกพัฒนาต่อยอดอีกมาก ประเด็นที่สองคือ การอนุมัติ Spot Bitcoin ETF จะยิ่งเร่งให้มีความต้องการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในปริมาณที่มากขึ้น ซึ่งการออกกฎระเบียบจำเป็นต้องคำนึงไม่ให้กระทบในการลดหรือจำกัดการแข่งขันนี้ โดยหน่วยงานกำกับดูแลควรต้องเข้ามาเรียนรู้และทำความเข้าใจ หรือทดลองใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัล ก่อนออกแนวทางกำกับดูแล เพื่อให้กฎระเบียบมีความสอดคล้องกับสภาพธุรกิจจริง และประเด็นที่สาม คือ การออกกฎระเบียบด้านสินทรัพย์ดิจิทัลไม่สามารถใช้เป็น one-size-fits-all ได้ จำเป็นต้องพิจารณาบริบทในแต่ละพื้นที่ให้เหมาะสม"
นอกจากนี้ "ท๊อป จิรายุส" ได้รับโอกาสขึ้นแสดงวิสัยทัศน์ในงาน World Economic Forum จำนวน 6 หัวข้อ ได้แก่ 1.Building ASEAN's regional structure integration through the digital economy 2.Empowering a financially resilient individual 3.The future of centralised exchanges 4.Facilitating trade through tech 5.Building Trust for Our Common Future: Role of Education, Technology and Blended Finance for Better Business Better World 6.Clear-Eyed about Cryptoพร้อมเตรียมนำข้อมูลทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ได้จากการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ มาอัปเดตให้นักธุรกิจและนักลงทุนชาวไทย เตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้
ที่มา: บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์