ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ร่วมแถลงข่าวพร้อมกับ นายแพทย์ วิรุฟห์ พรพัฒน์กุล ประธานจัดงาน นายระบิล พรพัฒน์กุล รองประธานจัดงาน นายบัญญัติ ทิพย์หมัด รองประธานจัดงาน และอาจารย์ซาฟีอี นภากร อีหม่ามประจำมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อแสดงความพร้อมในการจัดงาน "ฮัจย์และอุมเราะห์ ฟอรัมประเทศไทย 1445" ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 3-5 กุมภาพันธ์ 2567 ณ มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย
ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กล่าวว่า "ไอแบงก์ มีความชัดเจนในพันธกิจของธนาคารในการให้บริการทางการเงินตามหลักชะรีอะฮ์ ซึ่งเรื่องฮัจย์และอุมเราะห์ถือเป็นพิธีกรรมสำคัญทางศาสนาที่ไอแบงก์ให้ความสำคัญ โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียได้จัดงาน Hajj & Umrah Service Conference & Exhibition ที่เมืองเจดดาห์ระหว่างวันที่ 8-11 มกราคม 2567 ไอแบงก์ก็ได้ส่งบุคคลากรไปติดตามความก้าวหน้าและพัฒนาการที่ราชอาณาจักรกำลังดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมสอดคล้องกับ "วิสัยทัศน์ 2030 (Vision 2030)" ภายใต้โปรแกรม Pilgrim Experience หรือการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้แสวงบุญ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะให้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งสองแห่งในมักกะห์และมาดีนะห์ ได้ในจำนวนมากขึ้น ตลอดจนสร้างความประทับใจตั้งแต่เริ่มต้นการเดินทาง ระหว่างปฏิบัติศาสนกิจและพิธีกรรม และภายหลังการเยี่ยมเยียนศึกษาสถานที่ทางประวัติศาสตร์สำคัญในระหว่างที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักร โดยการพยายามยกระดับความสามารถของบุคลากรในประเทศให้มีจิตบริการ ตลอดจนนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาอำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้แสวงบุญทุกจุดมากขึ้น ฉะนั้นการที่ประเทศไทยจะจัดกิจกรรมและฟอรัมแบบนี้ถือว่าเรามาถูกทาง ผมคิดว่าเรื่องฮัจย์ก็ไม่ต่างอะไรกับเรื่องฮาลาลที่ต้องอาศัยทุกภาคส่วนร่วมกันสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ผู้ประกอบการ องค์กรทางศาสนา และธนาคารอิสลามก็มีหน้าที่สนับสนุนให้กิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้น ถือเป็นโอกาสดีที่ธนาคารจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งผมเชื่อว่าภายในงานนี้จะมีการพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางต่างๆ ที่จะช่วยให้พี่น้องเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น สำหรับด้านผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับฮัจย์และอุมเราะห์ ไอแบงก์รองรับลูกค้าเรามายาวนานและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการที่มีความจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินเช่นหนังสือค้ำประกัน หรือเงินโอน เป็นต้น รวมถึงผลิตภัณฑ์ด้านเงินฝากสำหรับกลุ่มลูกค้าบุคคลที่ต้องวางแผนทางการเงินเพื่อเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ โดยเมื่อปลายปีที่ผ่านมาเราได้ปรับผลิตภัณฑ์เงินฝากอัลฮัจย์เดิม เป็นเงินฝากอัลฮัจย์และอุมเราะห์ พร้อมสร้างโอกาสลุ้นบินลัดฟ้าไปร่วมพิธีฮัจย์ได้แบบไม่มีค่าใช้จ่าย ขยายจำนวนรางวัลจากเดิมเพียง 12 รางวัล เป็น 45 รางวัล และผู้โชคดีสามารถโอนกรรมสิทธิ์ในการรับรางวัลให้ผู้อื่นได้อีกด้วย"
ภายในงานจะมีกิจกรรมทั้งที่เป็นกลางแจ้งและในห้องประชุม โดยกิจกรรมกลางแจ้งจะมีการจัดจำหน่ายอาหาร เสื้อผ้า สินค้าทั่วไป บริการตรวจสุขภาพฟรี และจัดเวที เสวนาวิชาการ พร้อมนิทรรศการที่แสดงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงฮัจย์และอุมเราะห์จากอดีต ปัจจุบันสู่อนาคต และในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรมอัลมีรอซ ภาคเช้า จัดเวทีสัมนาแลกเปลี่ยนถ่ายทอดองค์ความรู้ และประสบการณ์ ในหัวข้อ การเปลี่ยนแปลง ความท้าทาย และโอกาส ทิศทางของการจัดบริการ ฮัจย์ และอุมเราะห์ ของประเทศไทย แชร์มุมมอง โดยพรรคการเมืองชันนำ อาทิ ภูมิใจไทย ประชาชาติ ก้าวไกล และประชาธิปัตย์ และมีการแยกห้องให้กับผู้เข้าร่วมสัมนาได้เจาะประเด็นเชิงลึกในหัวข้อที่สนใจ ออกเป็น 3 ห้อง อาทิ
ห้องที่ 1 ด้านการศึกษา การพัฒนาฮัจย์ไทยในมุมมองด้านการศึกษา กิจกรรม Hackatron Hajj and Umrah Thailand ชิงเงินรางวัลกว่า 50,000 บาท
ห้องที่ 2 ด้านสาธารณสุข
ห้องที่ 3 สมาคมผู้ประกอบกิจการฮัจย์ และแซะห์
ไฮไลต์ภาคค่ำกับกิจกรรม Dinner Talk บทสรุปฮัจย์และอุมเราะห์ของไทย "ภารกิจฮัจย์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชาติ" แชร์มุมมองโดย รศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี (อดีตอะมีรุลฮัจย์)
ที่มา: ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย