ขณะเดียวกันได้รณรงค์ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและวิธีสังเกตอาการของโรค รวมทั้งแนวทางป้องกัน โดยแจ้งเตือนระวัง "โนโรไวรัส" (Norovirus) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ไวรัสชนิดนี้ไม่ใช่ไวรัสตัวใหม่ พบการระบาดเป็นระยะๆ ในช่วงฤดูหนาว ติดต่อกันได้ด้วยการรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงไม่สุก เช่น หอย ผักผลไม้สดที่ล้างไม่สะอาด รวมทั้งสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง สัมผัสกับสิ่งของที่มีเชื้ออยู่ เช่น อาเจียน หรืออุจจาระของผู้ป่วย แล้วนำนิ้วเข้าปากโดยเฉพาะในเด็ก จึงสามารถเกิดการระบาดได้ง่ายในกลุ่มเด็กตามโรงเรียน ส่วนผู้ใหญ่มักไม่แสดงอาการ บางคนอาจมีอาการเล็กน้อย เด็กเล็กที่ภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติอาจมีอุจจาระร่วงเรื้อรังนานนับเดือนเชื้อโนโรไวรัส ก่อให้เกิดการอักเสบที่กระเพาะอาหาร หรือลำไส้ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง อาจมีไข้ต่ำ ๆ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกายร่วมด้วย สามารถพบผู้ป่วยได้ทุกเพศทุกวัย มักจะมีอาการภายใน 12-48 ชั่วโมง หลังจากได้รับเชื้อไวรัส ลักษณะอาการเด่นคือ ท้องเสียและอาเจียน โดยปกติผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นและหายได้เองภายใน 2-3 วัน แต่ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงโดยเฉพาะในเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุ อาจก่อให้เกิดการขาดน้ำได้ ดังนั้น ควรดื่มน้ำเกลือแร่ โออาร์เอส เพื่อทดแทนการเสียน้ำและเกลือแร่ หากรักษาเบื้องต้นแล้วยังไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างใกล้ชิดทันที ปัจจุบันยังไม่มียาเฉพาะในการกำจัดเชื้อโนโรไวรัส และยังไม่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ จะใช้วิธีรักษาตามอาการ
นอกจากนั้น ยังได้จัดให้มีระบบเฝ้าระวัง ตรวจสอบข่าวการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษจากเชื้อโนโรไวรัสอย่างต่อเนื่อง โดยโรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการยึดหลัก "กินร้อน ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ" ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาด ล้างให้นานไม่น้อยกว่า 15 วินาที ก่อนรับประทานอาหาร ก่อนใช้มือหยิบอาหาร หรือหลังหยิบจับสิ่งของ หรือสิ่งสกปรกต่าง ๆ รับประทานอาหารที่ยังร้อนและปรุงสุกใหม่ ล้างผักและผลไม้ให้สะอาดและใช้ช้อนกลางเสมอ ดื่มน้ำสะอาด ภาชนะที่ใช้ในการรับประทานและดื่มต้องสะอาด เด็กที่ติดเชื้อท้องเสีย "โนโรไวรัส" พ่อแม่ควรงดให้ลูกไปโรงเรียน ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการทำอาหารให้ผู้อื่นรับประทาน รักษาให้หายดีก่อน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ทั้งนี้ สามารถพบแพทย์ผ่าน Telemedicine แอปพลิเคชัน "หมอ กทม." เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็ว หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสุขภาพ สนพ.กทม.โทร.1646 ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่มา: กรุงเทพมหานคร