นายนรินทร์ ประทวนชัย รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า "จากสถานการณ์ไฟป่าหมอกควัน และPM 2.5 ของจังหวัดเชียงราย ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องทุกปี ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในการดำรงชีวิต ซึ่ง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดอยอินทรีย์เองก็ประสบปัญหาเรื่องไฟป่าด้วยเช่นกันในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี ซึ่งในปีที่ผ่านมาไฟไหม้ไปประมาณ 1,000 ไร่ ทำให้ทางเขตห้ามล่าสัตว์ป่าดอยอินทรีย์ต้องประสานความร่วมมือจากชุมชนเพื่อระดมอาสาสมัครที่เป็นชาวบ้านรอบ ๆ พื้นที่เข้ามาช่วยในการดับไฟป่า เพราะทางเราเองก็มีข้อจำกัดในเรื่องของบุคลากร อุปกรณ์และครุภัณฑ์ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการปฏิบัติงาน รวมทั้งงบประมาณที่จะมาสนับสนันให้กับเจ้าหน้าที่ ในวันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่มีหน่วยงานภายนอก ไม่ว่าจะเป็น สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด เล็งเห็นความสำคัญและเข้ามาสนับสนุนในเรื่องของอุปกรณ์ป้องกันไฟป่า และมาร่วมทำแนวกันไฟ เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องหมอกควัน และฝุ่น PM2.5 รวมถึงหมอกควันข้ามแดน ด้วยความกังวลว่าสถานการณ์ความรุนแรงของเอลนีโญจะทำให้อุณหภูมิอากาศสูงกว่าปกติ ประเทศไทยแห้งแล้งมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองในปี 2567 ให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น"
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 และหมอกควัน สร้างความกังวลใจให้กับนักท่องเที่ยวอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะจังหวัดทางภาคเหนือของไทย ซึ่งหากจะแก้ปัญหาต้องเริ่มแก้จากต้นตอพร้อมกับการนำเสนอข้อมูลที่เป็นจริง ที่ผ่านมาเรามักจะโทษว่า ชาวบ้านเป็นคนเผาป่า ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ไม่จริงทั้งหมด เพราะ PM2.5 เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน ซึ่งการจะส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่านั้น ต้องเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร เครื่องมือ การวางแผนและการจัดสรรงบประมาณในการแก้ปัญหาดังกล่าว
นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล ผู้ก่อตั้ง บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า "ดิไอคอนกรุ๊ป เล็งเห็นถึงปัญหาของ PM 2.5 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี เนื่องจากภาวะความแห้งแล้ง ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่และปัญหาหมอกควันที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่โดยรอบ จึงได้ร่วมมือกับมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยติดต่อกันเป็นปีที่ 3 เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมาแม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ยังขาดทรัพยากรในการดำเนินงาน กิจกรรม 'ป้องกันไฟป่า ลดปัญหาหมอกควัน' ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ทำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนที่จะร่วมกันแก้ปัญหา การสนับสนุนอุปกรณ์แก่ชุมชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เป็นหนึ่งแนวทางที่จะเพิ่มศักยภาพในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ในระยะยาว"
นายนายบัลลังก์ ไวทย์ศิริ ปลัดจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า "ทางจังหวัดได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันปฏิบัติการขับเคลื่อนตามแผนเฉพาะกิจ เพื่อแก้ปัญหามลพิษด้านหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ปี 2566 บนหลักการ 'สื่อสารเชิงรุก-ยกระดับปฏิบัติการ-สร้างการมีส่วนร่วม' ทั้งการเพิ่มมาตรการ การสร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเผา การใช้มาตรการทางกฎหมาย การสื่อสารกับประชาชนเพื่อลดการเผาในพื้นที่ทางการเกษตร ส่งเสริมการปลูกป่าสร้างรายได้ สร้างพื้นที่สีเขียว การใช้แนวทางคาร์บอนเครดิตมาปรับใช้ การบริหารจัดการวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงในป่า การฟื้นฟูภายหลังจากเกิดการเผา รวมถึงให้มีการกำหนดจุดเป้าหมายในการดำเนินงานให้ชัดเจน ทั้งด้านของงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ กำลังพลเจ้าหน้าที่ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับการทำงาน อาทิ การใช้แอพพลิเคชั่นตรวจสอบไฟป่า การใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone) ในการตรวจสอบและวิเคราะห์ในการดับไฟ การขึ้นทะเบียนคนที่เข้าป่า พรานป่า อีกทั้ง เน้นย้ำให้มีการประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มให้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี และจัดให้มีศูนย์ปฏิบัติการร่วม ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิบัติการกู้ภัย แจ้งเตือนแก่พี่น้องประชาชน การบูรณาการข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ เผยแพร่ผ่านสื่อช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้จังหวัดเชียงราย พร้อมเป็นเมืองแห่งสุขภาพ"
ปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 ไม่ใช่ปัญหาที่เพิ่งเกิดและไม่ใช่ปัญหาที่หมดไปง่ายๆ การแก้ไขปัญหาจึงต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพราะ "อากาศ" เป็นหนึ่งในความต้องการขั้นพื้นฐานเพื่อความอยู่รอดของมนุษย์ หากอากาศที่เราใช้หายใจมีปัญหา ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สังคม ต่อเนื่องสู่เศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ที่มา: สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI)