รวมถึงดำเนินมาตรการเชิงรุกติดตามดูแลความประพฤติและพฤติกรรมของเด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.โดยขอความร่วมมือครูที่ปรึกษาทุกระดับชั้นและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสอดส่อง เฝ้าระวัง ดูแลพฤติกรรมของนักเรียนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในบริเวณโรงเรียน บริเวณรอบโรงเรียน และบันทึกข้อมูลของนักเรียนที่เป็นกลุ่มรายบุคคล จัดการประชุมผู้ปกครองนักเรียน ซึ่งระหว่างการประชุมจะให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงในกลุ่มเด็กนักเรียน แนวทางการสอดส่อง เฝ้าระวัง ดูแลพฤติกรรมนักเรียน และแนะนำช่องทางการสื่อสารระหว่างครูกับผู้ปกครอง เพื่อป้องกันเหตุความรุนแรงในกลุ่มเด็กนักเรียน อีกทั้งส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิเด็กในโรงเรียนโดยจัดการเรียนการสอนเรื่องสิทธิเด็กสิทธิมนุษยชน การปกป้องคุ้มครองตนเองจากภัยอันตรายต่าง ๆ รวมทั้งภัยออนไลน์ต่าง ๆ ให้เด็กทุกคน
นอกจากนี้ ได้จัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) โดยให้โรงเรียนจัดครูที่ปรึกษา ครูประจำชั้น ครูให้คำปรึกษา ครูแนะแนว หรือครูที่มีชื่อเรียกอย่างอื่นแต่ปฏิบัติหน้าที่ในทำนองเดียวกัน คอยดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่มีปัญหา หรือมีความเสี่ยงจะประสบปัญหา ซึ่งโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาสังกัด กทม.ได้จัดชมรม TO BE NUMBER ONE ภายในชมรมมีกิจกรรมบริการให้คำปรึกษา บริการฝึกแก้ปัญหาพัฒนา EQ เรียนรู้ด้วยตนเอง บริการจัดกิจกรรมสร้างสุข และกิจกรรมศูนย์เพื่อนใจวัยรุ่น ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เน้นการช่วยเหลือดูแลและพัฒนาสมาชิกให้มีคุณภาพและมีความสุข ภายใต้แนวคิด "ปรับทุกข์ สร้างสุข แก้ปัญหา พัฒนา EQ"
รวมถึงกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีความสามารถได้แสดงความสามารถของตนเองและนักเรียนที่มีปัญหาได้มีที่พึ่งทางจิตใจ มีกิจกรรมที่ช่วยเหลือให้นักเรียนที่ประสบปัญหาสามารถแก้ปัญหาได้ ขณะเดียวกันทุกโรงเรียนในสังกัด กทม.ยังได้จัดประชุมผู้ปกครองทุกปีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยขอความร่วมมือผู้ปกครองสอดส่องดูแลนักเรียนให้มีความปลอดภัยทั้งขณะที่อยู่ภายในโรงเรียนและภายนอกโรงเรียน ขณะเดียวกันได้เตรียมความพร้อมทบทวนมาตรการดูแลเด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.โดยเฉพาะแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียน รวมถึงความเสี่ยง หรือเหตุความไม่ปลอดภัยรูปแบบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายในโรงเรียน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนกรณีที่นักเรียนมีปัญหาด้านต่าง ๆ ให้ช่วยเหลือนักเรียนตามความต้องการ
ที่มา: กรุงเทพมหานคร