ขณะเดียวกันได้ร่วมกับสำนักการศึกษา กทม.จัดทำประกาศ กทม.เรื่อง มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติด กัญชา กัญชง กระท่อม บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอบายมุขของโรงเรียนในสังกัด กทม.โดยเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กทม. คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กทม. และคณะกรรมการอำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กทม. แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้บริหาร กทม. ขณะเดียวกัน สนอ. โดยศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร (ศอ.ปส.กทม.) ได้แจ้งต่อที่ประชุมศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเขต (ศป.ปส.เขต) 50 เขต ให้ลงพื้นที่ตรวจเฝ้าระวังการจำหน่ายกัญชาในพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณรอบสถานศึกษา หากพบการจำหน่ายกัญชาที่ไม่ถูกต้องตามข้อกฎหมาย หรือสุ่มเสี่ยงจะเกิดความไม่ปลอดภัยในด้านต่าง ๆ แก่เด็กและเยาวชน ให้ประสานแจ้งกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงทันที และเมื่อวันที่ 30 - 31 ม.ค.67 ได้ชี้แจงสร้างความเข้าใจกับอาจารย์และนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษา 54 แห่ง ที่เป็นเครือข่ายเฝ้าระวังป้องกันและแก้ไขปัญหาและสารเสพติดในพื้นที่กรุงเทพฯ และเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตถึงปัญหากัญชา น้ำกระท่อม บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาเสพติดรอบสถานศึกษา
นอกจากนั้น ยังได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดโซนนิ่งร้านจำหน่ายกัญชาและสารเสพติดอื่นบริเวณรอบสถานศึกษาและศาสนสถานในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเพิ่มความเข้มงวดกวดขันบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กทม.กรณีพบการจำหน่ายกัญชา หรือสารเสพติดอื่น ๆ บริเวณโดยรอบสถานศึกษา สนอ.ได้ประสานความร่วมมือกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อขอข้อมูลและที่ตั้งของร้านค้าที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยร่วมกับ สธ. สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กทม.นำเข้าข้อมูลร้านค้าฯ ในแผนที่ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อเป็นฐานข้อมูลการเฝ้าระวัง โดยปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง
พร้อมทั้งขอความร่วมมือสำนักงานเขตเพิ่มความเข้มงวดกวดขันบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ รวมทั้งกำชับแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ กทม.หากพบการจำหน่ายสิ่งของที่ไม่ถูกต้องตามข้อกฎหมายและสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น อีกทั้ง สนอ.ได้เป็นวิทยากรให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโทษและพิษภัยกัญชาให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงบูรณาการป้องกันปัญหาจากการจำหน่ายกัญชาร่วมกับการดำเนินงาน 7 มาตรการสถานศึกษาปลอดบุหรี่ โดยจัดประชุมชี้แจงให้ผู้บริหารสถานศึกษาและครูที่รับผิดชอบครบทั้ง 437 โรงเรียนแล้ว รวมทั้งจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เรื่องโทษพิษภัยของกัญชาและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยประชาสัมพันธ์ไปยังโรงเรียนสังกัด กทม. อาสาสมัครเฝ้าระวังภัยยาและยาเสพติด อาสาสมัครสาธารณสุข กทม.ผู้นำชุมชน สมาชิกในชุมชน ผู้ปกครอง เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังปัญหาจากการใช้กัญชาในเด็กและเยาวชน
ที่มา: กรุงเทพมหานคร