นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยหลังเฝ้ารับเสด็จและรับพระราชทานโล่ประกาศเกียรติคุณ ว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงานร่วมกับมูลนิธิขาเทียมฯ ฝึกช่างทำขาเทียม ป้อนโรงงานขาเทียมพระราชทานทั่วประเทศ 90 แห่ง "สร้างคนพิการขาขาดและคนปกติ ให้เป็นช่างเครื่องช่วยคนพิการ ให้บริการขาเทียมแก่คนพิการขาขาด ให้ได้ขาเทียมที่ดีและมีคุณภาพได้มาตรฐาน" ตามโครงการพัฒนาช่างเครื่องช่วยคนพิการ (ช่างทำขาเทียม)
นางสาวบุปผา กล่าวต่อไปว่า จากปัญหาความต้องการช่างเครื่องช่วยคนพิการในโรงพยาบาลประจำอำเภอและประจำจังหวัดมีจำนวนมาก เพื่อทำงานในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ในขณะที่มูลนิธิขาเทียมฯ ไม่สามารถผลิตและพัฒนาช่างเครื่องช่วยคนพิการได้เพียงพอกับความต้องการ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ จึงร่วมกับมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จัดทำโครงการฝึกอบรมช่างเครื่องช่วยคนพิการ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานช่างทำขาเทียมให้เพียงพอและสามารถบริการคนพิการได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือให้แรงงานในสาขาดังกล่าว มูลนิธิขาเทียมฯ สามารถส่งช่างทำขาเทียมที่มีทักษะเหล่านี้เข้าทำงานในโรงงานขาเทียมประจำโรงพยาบาลชุมชนต่อไป กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ (สพร.19 เชียงใหม่)จัดฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกเตรียมเข้าทำงาน สาขาช่างเครื่องช่วยคนพิการ จำนวน 700 ชั่วโมง (5 เดือน) ให้แก่บุคลากรของโรงพยาบาลประจำจังหวัด และชุมชนทั่วประเทศที่สนใจเข้าร่วมฝึกอบรม
ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน สพร.19 เชียงใหม่ จัดฝึกแล้ว 6 รุ่น รวม 113 คน โดยรุ่นที่ 7 จะฝึกอบรมระหว่างวันที่ 5 กุมภาพันธ์ - 28 มิถุนายน 2567 จำนวน 15 คน ณ สำนักงานมูลนิธิขาเทียมฯ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โดยหลังจบฝึกอบรม มูลนิธิขาเทียมจะส่งช่างไปทำงาน ณ โรงงานขาเทียมประจำโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ และจะคัดเลือกบรรจุเป็นพนักงานราชการ เมื่อผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระดับ 2 แล้ว จึงทำให้ผู้จบหลักสูตรดังกล่าวมีงานทำที่มั่นคง ทั้งนี้ กรมจะดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือก่อนส่งตัวเข้าทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้จบฝึกมีทักษะได้มาตรฐานและพร้อมที่จะให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ" อธิบดีบุปผา กล่าวท้ายสุด
ที่มา: กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน