โดยมีแนวทางการส่งเสริม ได้แก่ 1.นวัตกรรมข้าวพันธุ์ดี เมล็ดข้าวพันธุ์ดี ที่ใช้น้ำน้อย ผลผลิตสูง ทนทานโรค และแมลง 2.การลดต้นทุน เพิ่มศักยภาพการผลิต ส่งเสริมการปลูกพืชแห่งโอกาส เช่น หญ้าเพื่อการเลี้ยงวัว การบริหารจัดการน้ำ ยกระดับภาคเกษตร ธนาคารน้ำใต้ดิน (Groundwater Bank) 3.การบริหารจัดการทรัพยากรดินให้เหมาะสมกับพืช 4.การสร้างคุณค่า ความภาคภูมิอาชีพ ระบบตลาดนำการผลิต 5.การขยายสาขาวิทยาลัยเทคนิคชัยนาท 6.การเพิ่มศักยภาพวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชัยนาท เป็นต้น โดยมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ที่มีความพร้อมก่อน
ทั้งนี้ การทำนาหรือทำเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถทำให้เกษตรกรหลุดพ้นจากความยากจนได้ ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีหน้าที่พัฒนาอาชีพเสริมให้แก่พี่น้องเกษตรกร ได้ประกอบอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าหากเกษตรกรมีอาชีพเสริม เช่น การเลี้ยงโคเนื้อพันธุ์ดี "ชัยนาทบีฟ" ตามโครงการ "ชัยนาทโมเดล" ที่มีคุณภาพ มาตรฐาน สามารถช่วยเหลือเกษตรกรให้หลุดพ้นจากความยากจน หมดหนี้สิน สามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีฐานะมั่นคง เกิดความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกร โคเนื้อพันธุ์ "ชัยนาทบีฟ" เป็นโคเนื้อขุนลูกผสมบราห์มันกับโคเนื้อสายพันธุ์ยุโรป เช่น แองกัส บีฟมาสเตอร์ ชาโลเล่ย์ วากิว ซึ่งปัจจุบันจังหวัดชัยนาท มีเกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อ จำนวน 3,557 ราย มีประชากรโคเนื้อ จำนวน 58,088 ตัว โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อบางส่วนได้ปฏิบัติและผ่านการรับรองมาตรฐานการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (Good Farming Management; GFM) จากกรมปศุสัตว์แล้ว แต่ยังมีเกษตรกรอีกหลายรายที่มีความประสงค์และต้องการรับรองมาตรฐาน
การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มโคเนื้อ (มกษ.6400-2555) เพื่อต่อยอดการตลาดและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค ดังนั้น สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ร่วมกับกรมปศุสัตว์ และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชัยนาท ได้จัดทำ "โครงการพัฒนาและยกระดับฟาร์มโคเนื้อสู่เกษตรมูลค่าสูง" เพื่อพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในจังหวัดชัยนาท ให้มีความรู้ ความเข้าใจเกณฑ์กำหนดของมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มโคเนื้อ (มกษ.6400-2555) ให้เกษตรกรสามารถปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐาน มีความพร้อมในการยื่นขอการรับรองตามมาตรฐาน การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มโคเนื้อ (มกษ.6400-2555) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในเรื่องคุณภาพ และความปลอดภัยของสินค้า และยังทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อมีศักยภาพเพียงพอในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อของตนเองให้เป็นอาชีพที่มีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน ตามเป้าหมายนโยบาย "ชัยนาทโมเดล"
ด้าน นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการ มกอช. กล่าวเพิ่มเติมว่า การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มโคเนื้อ (มกษ.6400-2555) ได้กำหนดเกณฑ์การปฏิบัติตั้งแต่ 1.องค์ประกอบฟาร์ม อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนจากอันตรายทางเคมี และชีวภาพ มีแหล่งน้ำที่สะอาดเหมาะแก่การเลี้ยงโค และมีปริมาณเพียงพอตลอดปี 2.อาหารสำหรับโคเนื้อ จัดให้มีอาหารหยาบและอาหารข้นที่มีคุณภาพดีเพียงพอกับความต้องการของโคเนื้อแต่ละประเภท โดยเฉพาะอาหารข้นที่นำมาใช้ต้องมีคุณภาพและมาจากแหล่งผลิตที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ 3.น้ำ แหล่งน้ำใช้ในฟาร์มอยู่ในบริเวณที่ไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนจากสิ่งที่เป็นอันตราย 4.การจัดการฟาร์ม แสดงรายละเอียดการปฏิบัติงานที่สำคัญภายในฟาร์ม ได้แก่ ระบบการเลี้ยง อาหารและน้ำสำหรับโคเนื้อ การจัดการฟาร์มรวมถึงการจัดการฝูงโคตามวัตถุประสงค์การจัดการด้านสุขภาพโคเนื้อ และการจัดการด้านสวัสดิภาพสัตว์สิ่งแวดล้อม
5.สุขภาพสัตว์ อยู่ภายใต้ความดูแลของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม โดยปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวแพทย์ พ.ศ.2545 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ตามข้อกำหนดใน มกษ. 9032 มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง ข้อปฏิบัติการควบคุมการใช้ยาสัตว์ 6.สวัสดิภาพสัตว์ ดูแลโคเนื้อ ให้มีความเป็นอยู่สบายและได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม หากโคเนื้อบาดเจ็บ ป่วย หรือพิการ เพื่อไม่ให้ทุกข์ทรมาน 7.การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการซากโคให้อยู่ในดุลยพินิจของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม กรณีทำลายให้นำซากไปฝังไว้บริเวณที่น้ำท่วมไม่ถึง ใต้ระดับผิวดินไม่น้อยกว่า 50 cm ราดด้วยยาฆ่าเชื้อโรค หรือใช้ปูนขาวโรยจนทั่วแล้วกลบดินปิดปากหลุม และพูนดินกลบหลุมเหนือระดับผิวดินไม่น้อยกว่า 50 cm และ 8.การบันทึกข้อมูล จัดทำบันทึกผลปฏิบัติงานในขั้นตอนสำคัญในการจัดการฟาร์ม และข้อมูลประวัติของสัตว์ ทั้งนี้ หากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคสามารถปฏิบัติได้ครบทั้ง 8 หัวข้อ สามารถยื่นขอการรับรองมาตรฐานฟาร์มโคเนื้อ จากสำนักงานปศุสัตว์ในพื้นที่ได้ เพื่อผลิตโคที่มีสุขภาพดี และได้เนื้อโคและผลิตผลอื่นๆ ที่มีคุณภาพเหมาะสมในการนำไปใช้ผลิตเป็นอาหารที่ปลอดภัยต่อการบริโภค
ที่มา: สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ