ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ กล่าวว่า 'ทางคณะ โดยภาควิชาการตลาด ได้ให้ความร่วมมือกับองค์กรสำคัญระดับนานาชาติมายาวนาน เพื่อเสริมสร้างให้นิสิตเป็นผู้นำแห่งอนาคตในด้านการตลาดและแบรนด์ มีความสามารถสูงและเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและประเทศชาติ สำหรับความร่วมมือกับฮาคูโฮโดซึ่งเป็นองค์กรสำคัญในแวดวงการตลาดและการสื่อสารของโลกนั้นได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี และการลงนามในบันทึกความร่วมมือครั้งนี้จะยิ่งกระชับความร่วมมือของสององค์กรให้แน่นแฟ้นขึ้น'
ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของ คุณเทรุฮิซะ อิโต ประธานบริษัทและผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ฮาคูโฮโด อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) เน้นการดำเนินงานตามปรัชญา 2 ข้อสำคัญของฮาคูโฮโด หนึ่งคือการเป็น พาร์ทเนอร์ หรือ การเป็นพันธมิตร ที่มองเห็นคุณค่าของการมีส่วนร่วมอย่างลึกซึ้ง ซึ่งในบริบทนี้ ฮาคูโฮโดก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย และอีกข้อคือแนวความคิดที่เรียกว่า Sei-katsu-sha (เซ-คัทสึ-ฉะ) เป็นคำภาษาญี่ปุ่นหมายถึง ความมุ่งมั่นที่จะเข้าใจ "ความเป็นอยู่ของผู้คน" มากกว่าจะมองเป็นเพียง "ผู้บริโภค" ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่เหมาะสมกับภาควิชาการตลาด ด้วยเหตุนี้ ฮาคูโฮโด ประเทศไทย จึงมีความตั้งใจในการสร้างประโยชน์ต่อสังคมไทย และรู้สึกดีใจที่ได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำของภูมิภาคอย่างจุฬาฯ
คุณชุติมา วิริยะมหากุล ผู้อำนวยการบริหาร จากบริษัท ฮาคูโฮโด อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) กล่าวว่า 'ฮาคูโฮโด ได้ออกแบบคอร์ส HIT PROGRAM (Hyperfocus, Integrate, Transform) ให้เหมาะสมกับนิสิตปี 4 ของ Chulalongkorn Business School ที่จะช่วยผลักดันศักยภาพของนิสิต ด้วยการเชื่อมโยงวิชาที่นิสิตได้เรียนรู้เข้ากับประสบการณ์จริงผ่านผู้รู้ในหลากหลายอุตสาหกรรมและหลากหลายแบรนด์ ที่พร้อมนำความรู้มาถ่ายทอดและสร้างแบบฝึกหัดกับนิสิตอย่างเข้มข้น เพื่อเป้าหมายที่จะเสริมทักษะให้พร้อมทำงาน สนับสนุนให้นิสิตเกิดการค้นพบตัวเองและสร้างแรงบันดาลใจที่จะเข้าทำงานในสายงานที่เหมาะกับตัวเองอย่างแท้จริง'
คุณยูโกะ อิโต กรรมการผู้จัดการ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า "ฮาคูโฮโด ญี่ปุ่น ได้มีโครงการพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นที่หลากหลาย เช่น โครงการ BRANCO! ร่วมกับมหาวิทยาลัยโตเกียว เป็นการประกวดออกแบบแบรนด์ผ่านการวิจัยอย่างเข้มข้นเป็นระยะเวลา 6 เดือน ในโครงการนี้เราเน้นการร่วมมือพัฒนางานผ่านการตั้งคำถาม แบบที่ "ไม่จำเป็นต้องมีคำตอบที่ถูกต้อง" ซึ่งจะทำให้นิสิตได้ฝึกวิธีคิดแบบเปิดกว้างติดตัวไปใช้กับมุมมองอื่นๆในชีวิตด้วย นอกจากนั้น ยังมีโครงการ Hakuhodo Youth Lab ที่วิจัยร่วมกับนิสิตมหาวิทยาลัย ในหัวข้อเกี่ยวกับ Sei-katsu-sha ซึ่งหมายถึง ไม่ได้แค่ศึกษาว่า จะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่มาซื้อสินค้า แต่เราเน้นศึกษา ความเป็นอยู่ของผู้คน ในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านสังคม ด้านธุรกิจ และด้านองค์กร ในหัวข้อที่สร้างความน่าสนใจ เช่น "ชีวิตแบบไหนที่เราควรสร้างในแบบของเรา" ซึ่งถือเป็นแล็บที่สนับสนุนนวัตกรรมทางความคิดให้กับนิสิตและยังนำไปสู่การประชุมร่วมกันในกลุ่มคนรุ่นใหม่บนมุมมองใหม่ ๆ อีกด้วย"
ถือเป็นโอกาสอันดีที่ Chulalongkorn Business School ได้มองเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมให้นิสิตได้นำความรู้ที่เรียนมาปรับเป็นทักษะให้สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวันและชีวิตการทำงานในอนาคต อีกทั้งยังได้นำเสนอมุมมองเรื่องของนักการตลาดให้แก่นิสิตในหัวข้อ 'Marketeers of the Future: นักการตลาดแห่งอนาคต' นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด Chulalongkorn Business School ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญ คือ นักการตลาดแห่งอนาคตต้อวมรทักษะ 5Re ประกอบด้วย Resilence (ความยืดหยุ่น), Resolution (เก่งแก้ปัญหา), Reliance (น่าเชื่อมั่นเชื่อถือ), Revolution (มุ่งหน้านวัตกรรม) และ Relationship (สร้างความสัมพันธ์กับสังคมและสิ่งแวดล้อม) ซึ่ง HIT PROGRAM จะตอบสนองทั้งห้าประเด็นนี้เพื่อสร้างสรรค์นักการตลาดแห่งอนาคตเพื่อสังคมไทยต่อไป
ทั้งนี้ในอนาคต ฮาคูโฮโด ประเทศไทย มีแนวความคิดที่จะนำโครงการที่ประสบความสำเร็จและสร้างการเรียนรู้ใหม่ ๆ จากญี่ปุ่น เข้ามาปรับใช้และร่วมมือกับภาคการศึกษาในประเทศไทยให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของบริษัทที่ต้องการร่วมสร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นกำลังสำคัญทางสังคมต่อไป
ที่มา: มิดัส พีอาร์