ส่วนการปฏิบัติหน้าที่โดยการสื่อสารผ่านกลุ่มไลน์ เป็นแนวทางหนึ่งของการสื่อสารที่สะดวก รวดเร็ว สามารถส่งรูปภาพการปฏิบัติงานทันที และตามประกาศ กทม.เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขาย หรือจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะได้กำหนดให้ผู้ค้ามีส่วนร่วมดูแลพื้นที่ โดยมีผู้แทนผู้ค้าจำนวน 3-9 คน ช่วยกันดูแลพื้นที่รับผิดชอบร่วมกับเจ้าหน้าที่เทศกิจ จึงต้องสื่อสารกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ค้า ซึ่งได้กำชับให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง หรือหากพบพฤติกรรมตามที่ปรากฏในสื่อ จะต้องถูกดำเนินการทางวินัยตามลำดับต่อไป กรณีการแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านระบบ Traffy Fondue เจ้าหน้าที่จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขและแจ้งผลการแก้ไขผ่านทางระบบให้ผู้ร้องได้ตรวจสอบผลการดำเนินการทันที
สำหรับความคืบหน้าการจัดระเบียบทางเท้าและการทำการค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ กทม.ได้ตั้งเป้าหมายการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมในจุดผ่อนผัน หรือพื้นที่ทำการค้าที่ กทม.ประกาศอนุญาต ผู้ค้าจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ หากฝ่าฝืน หรือถูกตักเตือน หรือได้รับการร้องเรียนบ่อยครั้ง หรือสภาพไม่เหมาะที่จะทำการค้า จุดนั้นจะต้องถูกยกเลิกพื้นที่ทำการค้า เช่น ซอยอารีย์ 1 เขตพญาไท ถนนคอนแวนต์ ฝั่งซ้ายหน้าอาคารโรเล็กซ์ เป็นต้น รวมถึงพื้นที่นอกจุดผ่อนผันเมื่อปี 2565 ได้สำรวจและจัดทำบัญชีไว้ 726 จุด ผู้ค้า 15,858 ราย ปัจจุบันได้จัดระเบียบ ยกเลิก ยุบรวมจุดที่มีปัญหากรณีที่ไม่สามารถจัดระเบียบได้ ผู้ค้าไม่ให้ความร่วมมือ จึงมีความจำเป็นจะต้องยกเลิกจุดดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว 191 จุด คงเหลือ 544 จุด ผู้ค้า 13,210 ราย และในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ได้ตั้งเป้าหมายดำเนินการเพิ่มอีก 110 จุด ซึ่งดำเนินการได้แล้ว 27 จุด และมีจุดอื่นที่ไม่ได้อยู่ในเป้าหมาย แต่พบว่า มีปัญหาได้ยกเลิกไปแล้วอีก 14 จุด จัดระเบียบ 5 จุด เป็นต้น
ที่มา: กรุงเทพมหานคร