นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง ได้ประชุมหารือแนวทางการจัดทำระเบียบปฏิบัติสำหรับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร (Certification Scheme) สำหรับผลิตภัณฑ์กาแฟ เพื่อร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟ รวมไปถึงกระบวนการผลิตกาแฟที่ได้รับการรับรองให้มีประสิทธิภาพ โดยมีการหารือเกี่ยวกับร่าง Certification Scheme ผลิตภัณฑ์กาแฟ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการผลิตกาแฟ รวมทั้งเก็บข้อมูลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำ Certification Scheme ผลิตภัณฑ์กาแฟ ได้แก่ ข้อมูลกระบวนการรับเมล็ดจนถึงกระบวนการแปรรูป
โดยปีงบประมาณ 2567 ได้เลือกผลิตภัณฑ์กาแฟเป็นสินค้านำร่อง ในการขอรับรองมาตรฐานดังกล่าว อีกทั้งในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย มีเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิโครงการหลวงกว่า 2,000 ราย และเกษตรกรแต่ละราย ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP จากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ทั้งนี้ ได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน กระบวนการรับเมล็ดกาแฟจนถึงกระบวนการผลิตกาแฟกะลา ณ ศูนย์พัฒนามูลนิธิโครงการหลวงตีนตก ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้การผลิตกาแฟอาราบิก้า ระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะมีการปลูกต้นกาแฟ ช่วงต้นฤดูฝนหรือประมาณเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม พร้อมทั้งเยี่ยมโรงงานแปรรูปกาแฟโครงการหลวงแม่เหียะ จังหวัดเชียงใหม่ โครงการหลวง จะมีการแปรรูปแบบเปียก โดยขั้นตอนการแปรรูป ได้แก่ 1.การปอกเปลือก (Pulping) นำเมล็ดไปลอยน้ำคัดแยกเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์ และปอกเปลือกเมล็ดที่จมน้ำภายใน 24 ชั่วโมง 2.การกำจัดเมือก (Demucilaging) เมล็ดที่ปอกเปลือกแล้ว ให้คัดแยกสิ่งเจือปน ออกให้หมด นำไปหมัก 24 ชั่วโมง หากเหมือกยังย่อยไม่หมดให้เปลี่ยนน้ำ และหมักกาแฟต่อไปอีกไม่เกิน 48 ชม. 3.การล้าง (Cleaning) เมล็ดกาแฟหลังหมักจนเมือกหมด นำไปล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำมาแช่น้ำ ต่ออีก 12 ชั่วโมง 4.การตาก (Drying) นำเมล็ดที่สะเด็ดน้ำแล้ว ตากบนแคร่สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 50 ซม. หมั่นเกลี่ยเมล็ด ใช้เวลาในการตาก 7-10 วัน เมล็ดกาแฟ ควรมีความชื้นไม่เกิน 13% 5.การบรรจุ (Packing) ควรเก็บในกระสอบป่านที่สะอาดปราศจากกลิ่น ตั้งเก็บอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก และมีพาเลทรองพื้น และยังได้เยี่ยมชมโรงคั่วและโรงสีกาแฟโครงการหลวง เพื่อรวบรวมข้อมูลประกอบการปรับปรุงร่าง Certification Scheme
"มกอช. ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง มุ่งมั่น และพัฒนาผลผลิตกาแฟ กระบวนขั้นตอนการผลิตกาแฟโครงการหลวง ให้มีคุณภาพ มีมาตรฐาน ปลอดภัย สร้างรายให้แก่เกษตรกร รวมไปถึงสร้างให้เกิดความยั่งยืน สิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน" เลขาธิการ มกอช. กล่าว
ที่มา: สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ