ปัญหาขยะอาหารกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดย 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตได้ทั่วโลกถูกทิ้งเกิดการเน่าเสีย สร้างผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพสิ่งแวดล้อม และทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกซึ่งเชื่อมโยงไปสู่ภาวะโลกร้อน ซึ่งประเทศไทยมีขยะอาหารคิดเป็น 64% ของปริมาณทั้งหมด และยังมีการนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์น้อยมาก เนื่องจากไม่มีการคัดแยกที่ถูกต้องก่อนทิ้ง ทำให้ขยะอาหารปนเปื้อนกับขยะประเภทอื่น ส่งผลให้วัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ เช่นพลาสติก ไม่ได้ถูกนำกลับไปใช้ประโยชน์ตามไปด้วย
วช. และ Dow เห็นถึงความสำคัญของการจัดการขยะของประเทศ จึงได้ร่วมมือกันส่งเสริมการคัดแยกขยะด้วยนวัตกรรม โดยหนึ่งในความร่วมมือล่าสุดคือ การสร้างเว็บไซต์ www.FoodWasteHub.com เพื่อสนับสนุนการจัดการขยะอาหารอย่างมีส่วนร่วมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะอาหาร จากการนำเศษอาหารมาใช้ประโยชน์ก่อนเน่าเสีย ช่วยลดการปนเปื้อนต่อขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ ทำให้ขยะในประเทศลดลงและเพิ่มอัตราการรีไซเคิลไปพร้อม ๆ กัน
การพัฒนาเว็บไซต์ดังกล่าว ไม่เพียงเป็นการนำเสนอแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ข้อมูลนวัตกรรมจากการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. หรือต้นแบบโครงการ เพื่อให้คนไทยได้รับความรู้เกี่ยวกับการนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์ แต่ยังเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ที่สนใจประกอบธุรกิจและนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์
ในงานแถลงข่าวเปิดตัวเว็บไซต์ www.FoodWasteHub.com ณ ห้องประชุมชั้น 2 ตึกทรู ดิจิทัล พาร์ค เวสต์ ยังได้มีการจัดแสดงนวัตกรรมการจัดการขยะอาหารให้กับสื่อมวลชน เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ และผู้ที่สนใจเข้าร่วมชม เพื่อให้เห็นตัวอย่างงานวิจัยส่วนหนึ่งที่มีเผยแพร่ในเว็บไซต์ นอกจากนี้ นักวิจัยทุกคนที่เข้าร่วมโครงการฯ ยังได้รับใบประกาศเกียรติคุณสำหรับการอนุญาตให้เผยแพร่ผลงานเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอีกด้วย
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงความสำคัญของ Food Waste Hub ว่า "โครงการนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการนำนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และเราหวังว่า Food Waste Hub จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในการจัดการขยะอาหารในประเทศไทย เรายินดีที่ได้ร่วมมือกับ Dow ในการพัฒนา Food Waste Hub ซึ่งจะเป็นแหล่งข้อมูลและแนวคิดที่จะเสริมสร้างการใช้ประโยชน์จากขยะอาหารในประเทศไทย และส่งเสริมนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคน"
นอกจากนี้ Dow ยังได้ร่วมมือกับ วช. ให้การสนับสนุนหนึ่งในงานวิจัยดังกล่าว โดยส่งเสริมการนำกากถั่วเหลืองที่เหลือจากการทำน้ำเต้าหู้ มาผลิตเป็นแป้งถั่วเหลืองโอคาร่า (OKARA) ซึ่งสามารถทดแทนการใช้แป้งสาลีในผลิตภัณฑ์เบเกอรีได้หลากหลายชนิด มีโปรตีน และใยอาหารสูง อีกทั้งยังปราศจากกลูเตน ช่วยแก้ปัญหาผู้ที่แพ้กลูเตนในแป้งสาลี ตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการลดการบริโภคแป้ง และผู้ที่ลดน้ำหนักด้วยอาหารคีโต โดยเริ่มนำแป้งโอคาร่า มาใช้ที่ร้านเรย์ เบเกอรี่ ของมูลนิธิคุถณพ่อเรย์ พัทยา ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2566
นายเอกสิทธิ์ ลัคนานิธิพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจและพัฒนาธุรกิจคาร์บอนต่ำ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า "Dow ตั้งเป้าที่จะช่วยลดโลกร้อน เปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมวงจรรีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน การแยกขยะอาหารและนำมาใช้ประโยชน์ก่อนที่จะเน่าเสียสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของโลกร้อน และลดการปนเปื้อนของเศษอาหารกับขยะอื่น ๆ โดยเฉพาะพลาสติก ทำให้สามารถนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้มากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นนวัตกรรมฝีมือคนไทยเหล่านี้ยังสามารถนำไปสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ได้ โครงการนี้จึงไม่เพียงแต่มีผลในด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังให้ประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างครบวงจร"
นอกจากแป้ง OKARA แล้ว ยังมีงานวิจัยฝีมือคนไทยที่น่าสนใจและพร้อมให้นำไปใช้ประโยชน์อีกหลากหลายซึ่งท่านสามารถค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมได้จากหน้าเว็บไซต์ www.foodwastehub.com ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ที่มา: ดาว ประเทศไทย