โดยเงินระดมทุนที่ได้รับจากการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรกภายหลังหักค่าใช้จ่ายในการเสนอขายหลักทรัพย์และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีจำนวนโดยประมาณ 1,790 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้เสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินกองทุนของธนาคารฯ เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับการขยายพอร์ตสินเชื่อประมาณ 895 ล้านบาท และปรับปรุงและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) และโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Security and Infrastructure) ประมาณ 895 ล้านบาท
ทั้งนี้ ธนาคารไทยเครดิต เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อไมโครและนาโนไฟแนนซ์ (Micro and Nano Finance) และสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี (Micro SME) ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าในประเทศไทยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบได้เท่าที่ควร ธนาคารฯ จึงยึดมั่นในวิสัยทัศน์และพันธกิจที่มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยให้บริการทางการเงินที่ดีที่สุด เพื่อสนับสนุนให้ลูกค้าเติบโตทางธุรกิจ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยบริการไมโครไฟแนนซ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของธนาคารฯ
และเพื่อเป็นการตอกย้ำวิสัยทัศน์ดังกล่าว ธนาคารฯ ได้พัฒนาแนวทางการปฏิบัติงาน โดยนำแนวทางจาก International Finance Corporation (IFC) ซึ่งเป็นผู้นำระดับโลกในด้านการให้บริการสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน รวมทั้งได้เข้าร่วมกับสมาคมธนาคารไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และคณะทำงาน Thailand Taxonomy ในความร่วมมือของโครงการกติกาใหม่เพื่อโลกที่ยั่งยืน ซึ่งกำหนดมาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิงในการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวเสริมอีกว่า "การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของธนาคารไทยเครดิตในครั้งนี้ จึงไม่เพียงสนับสนุนการเติบโตของธนาคารฯ ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่วางไว้เท่านั้น แต่เป็นการเปิดโอกาสให้คนไทยได้เป็นเจ้าของธนาคารพาณิชย์ที่ยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจตามหลักปรัชญา "Everyone Matters ทุกคนคือคนสำคัญ" และร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างสังคมที่ดีขึ้นไปด้วยกัน"
ทั้งนี้ ธนาคารฯ ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อเติบโตในระดับ 20%-30% ต่อปี สอดรับกับทิศทางการเติบโตในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารฯ มีอัตราเติบโตของพอร์ตสินเชื่อโดยเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 33.0% ต่อปี (2563-2565) โดยมีเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ของธนาคารฯ ณ งวด 9 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 138,435 ล้านบาท
อีกทั้ง ยังเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) สูงสุดในอุตสาหกรรม โดยในงวด 9 เดือน ปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 8.2% อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROE) ในระดับสูงอยู่ที่ 21.8% สะท้อนการเติบโตอย่างมั่นคงในฐานะธนาคารพาณิชย์ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่มีการเติบโตแข็งแกร่งและรวดเร็ว ภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ จึงมั่นใจว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ครั้งนี้ จะสนับสนุนให้ธนาคารไทยเครดิตมีการเติบโตอย่างมั่นคงและแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง
*การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และโปรดอ่านหนังสือชี้ชวน หรือข้อมูลที่มีสาระตรงตามข้อมูลสรุปสาระสำคัญของหลักทรัพย์ (Executive Summary) อย่างรอบคอบ
ที่มา: ไออาร์ พลัส