นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เปิดเผยว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมาตลาดเช่าซื้อภาพรวมในประเทศมีการแข่งขันรุนแรง ในขณะที่ปัจจัยภายนอก ทั้งการเข้ามากำกับดูแลจากประกาศของ สคบ. เรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2566 ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเริ่มมีผลบังคับในวันที่ 10 มกราคม 2566 และสภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวลดลง จากผลกระทบที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมทั้งอุปสงค์ในประเทศยังคงได้รับผลจากการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ รวมถึงภาคการผลิตที่ยังชะลอต่อเนื่อง หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง สะท้อนได้จากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ยังหดตัวหลายเดือนติดต่อกัน และเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับตัวสูงกว่ากรอบเงินเฟ้อของ ธปท. ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจเช่าซื้อต่างต้องนำกลยุทธ์ธุรกิจและแผนการตลาดที่หลากหลายมาขับเคี่ยวกันตลอดปี
สำหรับ TK ในปี 2566 ที่ผ่านมา ใช้การดำเนินกลยุทธ์ธุรกิจในประเทศด้วยการปล่อยสินเชื่อด้วยความระมัดระวังและเข้มงวด ขนานไปกับการบริหารคุณภาพลูกหนี้ในพอร์ตเช่าซื้อเพื่อคงระดับหนี้เสีย รวมทั้งบริหารฐานทุนให้แข็งแรง เน้นการมีเงินสดเตรียมพร้อมเมื่อจังหวะเหมาะสมในการขยายตลาด นอกจากนี้ ยังใช้ กลยุทธ์เดินหน้าขยายธุรกิจเช่าซื้อในต่างประเทศ ทั้งใน สปป.ลาว และกัมพูชา ด้วยความระมัดระวัง ให้สอดคล้องกับปัจจัยความเสี่ยงที่ TK ติดตามอย่างใกล้ชิดในแต่ละประเทศที่เข้าไปดำเนินงาน โดยมีมูลค่าพอร์ตเช่าซื้อ ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566 ประมาณ 1,500 ล้านบาท หรือ 38% ของยอดสินเชื่อรวมของ TK
นโยบายการดำเนินธุรกิจในตลาดต่างประเทศของ TK ในปี 2567 คือจะเน้นคุณภาพลูกหนี้เป็นหลัก ทั้งใน สปป.ลาว และกัมพูชา พร้อมเตรียมรับมือกับการแข่งขันจากการเข้ามาของผู้ให้บริการสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถเพิ่มสัดส่วนพอร์ตเช่าซื้อในต่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 40% จาก สปป.ลาว และกัมพูชา ภายในสิ้นปี 2567
นายประพล พรประภา กรรมการและรองผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK กล่าวว่า การขยายตลาดเช่าซื้อไปยังต่างประเทศนับเป็นการสร้างโอกาสเพิ่มรายได้ใหม่ให้กับผู้ประกอบการเช่าซื้อ หรือ New S-Curve เพื่อกระจายพอร์ตเช่าซื้อ เหตุเพราะการแข่งขันของธุรกิจเช่าซื้อในประเทศเข้มข้น รวมทั้งมีหน่วยงานจากภาครัฐเข้ามากำกับดูแลเข้มงวด ด้วยการกำหนดเพดานดอกเบี้ย อีกทั้งยังจะมีโรดแมปที่ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามากำกับดูแลธุรกิจเช่าซื้อ ซึ่งขณะนี้ยังคงต้องรอดูความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวจาก ธปท. ทำให้ผู้ประกอบการเช่าซื้อมองว่าตลาดต่างประเทศมีโอกาสเติบโตได้มากกว่า อย่างไรก็ตาม การเข้าดำเนินธุรกิจเช่าซื้อในต่างประเทศมีหลักเกณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงข้อกฎหมายและภาษีในการดำเนินธุรกิจเช่าซื้อในแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้ประกอบการทุกรายที่เข้าไปดำเนินงานต้องศึกษาและปฏิบัติตาม ทั้งนี้ TK ได้ขยายธุรกิจเช่าซื้อในประเทศที่กฎระเบียบเอื้ออำนวยกว่าประเทศไทย
TK เริ่มขยายธุรกิจเช่าซื้อไปตลาดต่างประเทศตั้งแต่ปี 2557 ปัจจุบันมีสาขาในต่างประเทศรวม 18 สาขา โดยมีสาขาใน สปป.ลาว จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ เวียงจันทน์ หลวงพระบาง ปากเซ สะหวันนะเขต เชียงของ และอุดมไซ ครอบคลุมหัวเมืองและประชากรประมาณ 17.04 ล้านคน ซึ่งนับว่าครอบคลุมเกือบทุกเมือง บริษัทฯ จึงไม่มีแผนที่จะขยายหรือเพิ่มสาขาในตลาดดังกล่าว โดยตั้งเป้าสินเชื่อใน สปป.ลาว ให้ทรงตัวประมาณ 130 ล้านบาท ส่วนในราชอาณาจักรกัมพูชา TK มีสาขาจำนวน 12 แห่ง ที่พนมเปญ เสียมเรียบ พระตะบอง สวายเรียง บันเตียเมียนเจย กำปงจาม กำปงสปือ กำโปด กำปงธม กำปงชนัง โพธิสัตว์ และตาแกว ตั้งเป้าเติบโตโดยเน้นคุณภาพลูกหนี้เป็นหลัก
ที่มา: แอบโซลูท พีอาร์