นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower (ชื่อย่อหลักทรัพย์: CKP) หนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคและมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำที่สุดรายหนึ่ง เปิดเผยว่าในปี 2566 CKPower มีรายได้จำนวน 10,941 ล้านบาท แม้ว่าจะต้องเผชิญกับปรากฎการณ์เอลนีโญ (El Ni?o) แต่ปริมาณน้ำมีการปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 โดยบริษัทได้ปรับแผนการผลิตไฟฟ้าให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้มีปริมาณน้ำคงเหลือในอ่างเก็บน้ำของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 สูงถึง 367 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งเป็นระดับน้ำคงเหลือในอ่างเก็บน้ำที่สูงที่สุดในรอบ 3 ปี และจะส่งผลบวกต่อผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ซึ่งเป็นฤดูแล้ง
ในปี 2566 CKPower รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนใน ในบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (XPCL) ลดลงจากปริมาณการขายไฟฟ้าที่ลดลงตามปริมาณน้ำ และต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นตามแนวโน้มดอกเบี้ยโลก ประกอบกับ บริษัท ไฟฟ้า น้ำงึม 2 จำกัด (NN2) มีรายได้จากการขายไฟฟ้าลดลงและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากงานซ่อมบำรุงใหญ่ตามแผนซ่อมบำรุง (Major Overhaul) ในขณะที่ บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด (BIC) มีกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจากราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยในปี 2566 ที่ปรับลดลง จากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นของ CKPower เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25.4 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 จากปี 2565 และมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทจำนวน 1,462 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิร้อยละ 13 สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่แข็งแกร่งท่ามกลางวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งวิกฤตด้านราคาพลังงาน ภูมิรัฐศาสตร์ และสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งบริษัทยังบรรลุเป้าหมายด้านต่าง ๆ ที่สำคัญต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัท ประกอบด้วย การได้รับคัดเลือกให้เข้าอยู่ในทำเนียบ "บริษัทวิถียั่งยืนที่น่าลงทุน" หรือ ESG100 ประจำปี 2023 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากสถาบันไทยพัฒน์ รวมถึงได้รับการประเมินให้เป็น 1 ใน 34 บริษัทจดทะเบียนที่มีการบริหารจัดการด้านความยั่งยืนในระดับ "AAA" ซึ่งเป็นระดับสูงสุดใน SET ESG Ratings ตลอดจนได้รับรางวัล Commended Sustainability Awards จากงาน SET Awards 2023 โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
นายธนวัฒน์ กล่าวว่า "แม้ว่าตลอดปีที่ผ่านมา CKPower จะต้องเผชิญกับความท้าทายจากวิกฤตการณ์สำคัญต่าง ๆ ทั่วโลกที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัท โดยเฉพาะปรากฎการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่บริษัทยังสามารถบริหารจัดการการดำเนินงานของบริษัทผ่านสภาวะความไม่แน่นอนต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีผลการดำเนินงานที่เป็นกำไรสุทธิ มีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่โรงไฟฟ้าทำไว้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อีกทั้งยังคงสถานะทางการเงินที่มั่นคงได้อย่างสม่ำเสมอ โดยมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ในระดับต่ำที่ 0.53 เท่า สะท้อนแนวทางการบริหารงานของบริษัทที่มุ่งสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ XPCL ยังประสบความสำเร็จในการเสนอขายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Debentures) เพิ่มเติมในปี 2566 อีก 3,500 ล้านบาท โดยนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ไปชำระคืนเงินกู้ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยและลดต้นทุนทางการเงินของ XPCL ท่ามกลางแนวโน้มภาวะดอกเบี้ยโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2566"
"สำหรับก้าวต่อไป CKPower ได้วางเป้าหมายการเติบโตในด้านการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและรากฐานความมั่นคงทางพลังงาน ตลอดจนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน โดยในปี 2566 โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในเครือของกลุ่มบริษัท CKPower สามารถผลิตไฟฟ้าสะอาดส่งให้ประเทศไทยได้ กว่า 8.5 ล้านเมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) หรือคิดเป็นกว่า 17% ของไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ใช้ในประเทศในปี 2566 และสามารถหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 4.4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ที่สามารถหวังผลในระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี พ.ศ. 2593 และการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนทางพลังงานของประเทศไทย" นายธนวัฒน์ กล่าว
ที่มา: ซีเค พาวเวอร์