พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึง บทบาทของกระทรวงยุติธรรมกับการส่งเสริมหลักนิติธรรมของประเทศไทย การแก้ปัญหาอาชญากรรม ซึ่งอาชญากรรมเป็นภยันตรายต่อสังคมและต่อความสงบสุขของประชาชน ดังนั้น การบูรณาการความร่วมมือแบบไร้รอยต่อเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อสร้างชุมชนให้เข้มแข็งและห่างไกลจากยาเสพติด และให้โอกาสแก่ผู้ติดยาเสพติดได้กลับคืนสู่สังคม จึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งงานวิจัยเข้ามามีส่วนช่วยเป็นการบูรณาการความร่วมมือในการรวบรวมองค์ความรู้ในด้านกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม กระบวนการป้องกัน บำบัด และแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญเพื่อความผาสุกของประชาชน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนากลไกที่จะทำให้ประเทศไทยไปสู่ความเป็นศูนย์กลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติจึงได้มีการพัฒนาศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) และศูนย์กลางความรู้ (Hub of Knowledge) ซึ่งเป็นการสนับสนุนการสร้างกลุ่มหรือเครือข่ายนักวิจัยในประเด็นสำคัญของประเทศในมิติต่าง ๆ ก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัย หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สำหรับศูนย์กลางองค์ความรู้ต้นแบบด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นการต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. ในประเด็น ยุติธรรมท้าทายไทย 4.0 ในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนให้กับสังคมและชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งศูนย์กลางแห่งความรู้ (Hub of knowledge) เป็นพื้นที่สำหรับการรวบรวมองค์ความรู้ในด้านกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม กระบวนการป้องกัน บำบัด และแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่สอดคล้องกับการเสริมสร้างโอกาส ทางการศึกษา สร้างอาชีพ และคืนคนดีสู่สังคม
พลตำรวจโท เสนิต สำราญสำรวจกิจ ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้กล่าวถึงความสำคัญของศูนย์กลางองค์ความรู้ต้นแบบด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ว่าเป็นการดำเนินงานไปพร้อมกันระหว่างศูนย์ PSDP-Hub และศูนย์ DLET-Hub ซึ่งโรงเรียนนายร้อยตำรวจได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในการประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อรวบรวมเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญและองค์ความรู้ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งในเชิงกระบวนการทางกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกระบวนการป้องกัน บำบัด แก้ไข ให้สามารถเข้าถึงประชาชน เด็กและเยาวชน และกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ ในระดับชุมชน
ด้าน ศาสตราจารย์ พลตำรวจตรีหญิง ดร.พัชรา สินลอยมา หัวหน้าศูนย์ PSDP-Hub กล่าวว่า ศูนย์ PSDP-Hub (www.psdp-hub.com) เป็นศูนย์กลางด้านความรู้ (Hub of Knowledge) ที่มีการรวบรวมองค์ความรู้ด้านยาเสพติดจากฐานข้อมูลทางวิชาการและประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในขณะที่ศูนย์ DLET-Hub (www.dlet-hub.com) เป็นศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) ที่รวบรวมบุคลากรศักยภาพสูงจากหน่วยงานต่าง ๆ ในลักษณะของ "สมาคมแห่งเมธี" เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และส่งต่อไปยังผู้ใช้ประโยชน์กลุ่มต่าง ๆ โดยเป้าหมายของการดำเนินงานคือการถ่ายทอดองค์ความรู้และสร้างผู้เชี่ยวชาญรุ่นใหม่ ที่จะสามารถตอบคำถามหรือโจทย์ที่สังคมต้องการคำตอบเมื่อต้องเผชิญกับสภาวการณ์ด้านปัญหาการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดในมิติต่าง ๆ รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือหรือให้คำปรึกษาแก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหายาเสพติด ซึ่งผลจากการดำเนินโครงการครั้งนี้ได้เกิดศูนย์ต้นแบบ (Pilot Hub) ที่จะนำไปสู่การจัดตั้งศูนย์กลางด้านความรู้ (Hub of Knowledge) และศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of talents) ด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต
ทั้งนี้ ภายในงานมีการเสวนาในหัวข้อ "ศูนย์กลางองค์ความรู้ ลงสู่ชุมชน เพื่อพัฒนาคน สร้างสังคมปลอดภัยจากยาเสพติด" โดยได้รับเกียรติจากผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามยาเสพติดมาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในการเสวนาดังกล่าว
ที่มา: สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)