นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการบินโลกในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2566 มีอัตราฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มธุรกิจบริการอากาศยานมีการเติบโตที่สูงขึ้น โดยอัตราการเติบโตของปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (Revenue Passenger Kilometer: RPK) ของสายการบินในภูมิภาคเอเชีย แปชิฟิกที่มีการเติบโตมากที่สุดเฉลี่ยร้อยละ 77.2 จากปัจจัยหนุนต่าง ๆ อาทิ นโยบายการเปิดประเทศของจีน วันหยุดยาวและช่วงเทศกาลต่าง ๆ และยังส่งผลให้ผลการดำเนินงานของ บริษัทฯ ในปี 2566 เป็นไปในทิศทางบวก โดยสามารถพลิกฟื้นกลับมามีรายได้รวมเท่ากับ 21,732.5 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 70.06 เมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งสัดส่วนรายได้ส่วนใหญ่มาจากบัตรโดยสารของธุรกิจการบินร้อยละ 68.6 หรือรายได้จำนวน 14,913.8 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 76.5 จากยอดผู้โดยสารที่ใช้บริการกับสายการบินบางกอกแอร์เวย์สที่มีปริมาณเติบโตสูงขึ้น และมีอัตราราคาบัตรโดยสารเฉลี่ย 3,756บาท
โดยในปี 2566 บริษัทฯ มีกำไรจากการดำเนินงานเท่ากับ 3,044.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,934 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายและบริการในสัดส่วนของรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบิน 4,269.5 ล้านบาท ทั้งนี้ เป็นกำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เท่ากับ 3,110 ล้านบาท และมีผลกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 1.49 บาท ในขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมเท่ากับ 18,646.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.4 จากปี 2565 โดยส่วนใหญ่เป็นต้นทุนขาย
นายพุฒิพงศ์ กล่าวต่อว่า เพื่อตอบรับอุปสงค์การเดินทางที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังได้ปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจโดยเพิ่มความถี่เที่ยวบินเพื่อรองรับปริมาณการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในเส้นทางที่มีแนวโน้มความต้องการเดินทางสูง อาทิ กรุงเทพ - สมุย กรุงเทพ-ภูเก็ต ภูเก็ต-สมุย และสมุย-สิงคโปร์ รวมถึงเปิดให้บริการเส้นทางบินใหม่เพิ่มเติม ได้แก่ ลำปาง - แม่ฮ่องสอน และ สมุย - ดอนเมือง ส่งผลให้ในปี 2566 บริษัทฯ มีปริมาณการขนส่งผู้โดยสารจำนวน 3.97 ล้านคน เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 49.5 เทียบกับปี 2565 และฟื้นตัวได้ร้อยละ 67.7 ของช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งผู้โดยสารส่วนใหญ่มาจากจุดขายบัตรโดยสาร (Point-of-Sale) ผ่านเว็บไซต์ และระบบเชื่อมต่อตรงกับบริษัทฯ คิดเป็นร้อยละ 44 รองลงมาได้แก่ผู้โดยสารที่เดินทางมาจากทวีปยุโรป คิดเป็นร้อยละ 19 ของผู้โดยสารทั้งหมด โดยมีอัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor) อยู่ที่ร้อยละ 79.2
"สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เสริมศักยภาพและโอกาส ทางธุรกิจโดยการทำสัญญาความตกลงเที่ยวบินร่วมกับสายการบิน สิงคโปร์แอร์ไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารของทั้งสองสายการบิน ในการเดินทางเชื่อมต่อไปยัง จุดหมายปลายทางยอดนิยมทั้งในประเทศไทย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ส่งผลให้ปัจจุบันมีสายการบินที่เข้าทำความตกลงเที่ยวบินร่วมแบบ "Code Share Agreement" รวมจำนวน 28 สายการบิน ในขณะที่บริษัทฯ มีเครื่องบินที่ให้บริการขนส่งผู้โดยสาร ณ ปัจจุบัน รวมทั้งสิ้นจำนวน 24 ลำ พร้อมกันนี้ยังได้ประกาศ ข้อตกลงร่วมกับสายการบิน แอร์อินเดีย สำหรับการขนส่งผู้โดยสาร กระเป๋าสัมภาระ และบัตรโดยสาร โดยภายใต้ข้อตกลงร่วมดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ผู้โดยสารที่เดินทางท่องเที่ยวไปยังจุดหมายการเดินทางต่าง ๆนอกจากนี้สายการบินบางกอกแอร์เวย์สยังได้วางแผนการจัดการบริหารฝูงบินอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ สอดคล้องกับอุปสงค์การเดินทางของนักท่องเที่ยวตลอดทั้งช่วงไฮซีซั่นและโลว์ซีซันของปี 2567 นี้" นายพุฒิพงศ์ กล่าวเพิ่มเติม
ติดตามข้อมูลข่าวสารสำหรับนักลงทุนสัมพันธ์เพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ https://investor.bangkokair.com
ที่มา: เจซีแอนด์โค คอมมิวนิเคชั่นส์