ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าวต่อไปว่า ในช่วงที่ผ่านมาคุรุสภาได้ดำเนินงานสนองนโยบาย รมว.ศธ.ไปหลายส่วนแล้ว ทั้งนโยบาย "เรียนดี มีความสุข" ที่คุรุสภามีกระบวนการผลิตครูคุณภาพ โดยเน้นการรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษาตามมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถใช้คุณวุฒิจากปริญญาหรือประกาศนียบัตรที่คุรุสภารับรอง และสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาให้แก่ผู้รับบริการและสังคม โดยในปี 2566 ได้ให้การรับรองหลักปริญญา รวมจำนวน 283 หลักสูตร ผ่านระบบ KSP Bundit ขณะเดียวกันได้ลดภาระงานของครูและบุคลากรทางการศึกษาและผู้เตรียมเข้าสู่วิชาชีพด้วยการจัดการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู ซึ่งเป็นกระบวนการคัดกรองผู้เข้าสู่วิชาชีพครู หรือผู้ประกอบวิชาชีพ ที่มีความประสงค์ขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น (B-License) โดยได้ดำเนินการจัดการทดสอบ รายวิชาครู ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Testing) และระบบกระดาษ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้ารับการทดสอบให้เข้าถึงการทดสอบได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดการทดสอบมาแล้ว 2 ครั้ง จำนวน 8 รอบ ใน 16 ศูนย์สอบครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ มีผู้เข้าทดสอบทั้งประเทศ จำนวน 59,679 คน
เลขาธิการคุรุสภา กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้คุรุสภาช่วยลดภาระงานของครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดภาระค่าใช้จ่าย ด้วยการเปิดให้บริการใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งการออกและต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา โดยให้บริการในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมามีการพัฒนาการให้บริการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินงานมีความรวดเร็วมากขึ้น มีการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาระหว่างหน่วยงานผ่านระบบบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ (Linkage Center) เช่น การขอใช้ประโยชน์ข้อมูลทะเบียน ประวัติราษฎรจากฐานข้อมูลทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน เป็นต้น โดยใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ในการตรวจสอบข้อมูลผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาและเพื่อเป็นปัจจุบัน รวมถึงการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาด้วยเทคโนโลยีผ่านบริการ Web Service กับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ผ่านระบบ KSP Self-service และ KSP School และมีรูปแบบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ สามารถพิมพ์ใบอนุญาตฯ ได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะเป็นการลดขั้นตอนที่ยุ่งยากของการต่อและขอใบอนุญาตฯ ได้ โดยในปี 2566 มีผู้ขอขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา จำนวน 77,322 ราย มีผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา จำนวน 93,489 ราย และมีผู้ขอหนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ จำนวน 26,965 ราย สำหรับการขอขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ของผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันผลิตครูที่คุรุสภารับรองปริญญา มีผู้ที่ขอขึ้นทะเบียนใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่ครู (P-License) จำนวน 21,183 คน ผู้ที่ขอขึ้นทะเบียนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น (B-License) จำนวน 41,765 ราย ซึ่งผู้รับบริการและผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลปริญญาที่คุรุสภารับรองและข้อมูลจำนวนผู้ถือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแยกตามประเภทและสังกัด ได้ทางแดชบอร์ด (Dashboard) ที่นำเสนอในเว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าวว่า คุรุสภายังมีบทบาทในการจัดกิจกรรมส่งเสริมและกระตุ้นการพัฒนาวิชาชีพ สร้างครูดีสอนดี ศิษย์ดีเรียนดี ด้วยการอบรมหลักสูตรมาตรฐานความรู้วิชาชีพครู สำหรับผู้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพควบคุมเป็นการชั่วคราว (KSP 7 Module) ทั้งครูชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีอยู่ในระบบกว่า 50,000 คน ได้เข้าสู่กระบวนการพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพครู ด้วยการเปิดให้ลงทะเบียนและเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา Anywhere Anytime พร้อม เป็นการอบรมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ https://ksp-7module.one.th/ โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวสามารถรองรับผู้เข้ารับการอบรมได้เป็นจำนวนมาก สำหรับงานบริหารจัดการองค์ความรู้เพื่อพัฒนาความลุ่มลึกทางวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา โดยเปิดให้มีการพัฒนาความรู้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ผ่านระบบKSP Knowledge Management และเว็บไซต์ของคุรุสภา รวมถึงการยกย่องและผดุงเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ขณะเดียวกันคุรุสภาได้ดำเนินการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลต่างๆ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา รวมทั้งบุคลากรทางการศึกษาอื่น โดยดำเนินการคัดเลือกผู้สมควรได้รับรางวัลต่าง ๆ จำนวน 6 รางวัล และผลงานวิจัยและนวัตกรรมทางการศึกษา ซึ่งสามารถส่งผลงานผ่านระบบ KSP Self-service หรือ KSP School เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา มีความยืดหยุ่นในด้านระยะเวลา มีความสะดวก และลดข้อจำกัดต่าง ๆ ของผู้เข้ารับการอบรมและส่งผลงาน สามารถเข้าใช้ได้ทุกอุปกรณ์
"สำหรับการดำเนินงานของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้นำเทคโนโลยีให้เข้ามามีบทบาทกับงานของคุรุสภามากขึ้น ได้มีการใช้ระบบ Virtual Private Network (VPN) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค สามารถปฏิบัติงานจากที่บ้านได้ จัดให้หน่วยงานระดับจังหวัดช่วยกรองงานเรื่องการขอและต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูก่อนส่งต่อให้คุรุสภาอนุมัติ โดยทำงานผ่านระบบออนไลน์ได้อย่างราบรื่น ช่วยลดขั้นตอนการดำเนินงาน ลดการใช้กระดาษ ใช้ระบบการประชุมออนไลน์ (Online) ผ่านระบบแอปพลิเคชัน Zoom Cloud Meetings และระบบ e-Meeting เพื่อประสิทธิภาพในการประชุม รวมถึงพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล จัดส่งบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ารับการอบรมกับหน่วยงานภายนอกและการอบรมในรูปแบบออนไลน์ รวมทั้งมีการจัดอบรมการใช้งานคอมพิวเตอร์และเครือข่ายเบื้องต้น และการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อยกระดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย" ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าว.
ที่มา: เอยู คอมมิวนิเคชั่น