นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวว่า สจส.ร่วมกับสำนักเทศกิจ และสำนักงานเขตต่าง ๆ ป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้นำกล้องวงจรปิด (CCTV) และระบบ AI มาทดสอบติดตั้ง 15 จุดตั้งแต่เดือน มิ.ย.66 จนถึงปัจจุบันปรากฏว่า ระบบสามารถตรวจจับผู้ฝ่าฝืนขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้าได้มากกว่า 62,000 รายการ และขณะนี้ สจส.อยู่ระหว่างเร่งติดตั้งระบบตรวจจับเพิ่มอีก 100 จุด ให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อจะส่งข้อมูลภาพ หรือคลิปวิดีโอไปให้สำนักเทศกิจและสำนักงานเขตตรวจสอบป้ายทะเบียนรถจักรยานยนต์กับฐานข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ก่อนจะออกหนังสือเรียกผู้ครอบครองรถที่ฝ่าฝืนกระทำผิดเข้ามาพบเจ้าพนักงาน ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 เพื่อแจ้งความผิด ว่ากล่าวตักเตือน หรือเปรียบเทียบปรับ หรือให้ระงับการต่อทะเบียนรถต่อไป
นายสุรเดช อำนวยสาร รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กล่าวว่า การจอด หรือขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้าเป็นความผิดตามกฎหมายจราจร ซึ่งการบังคับการตามกฎหมายเป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาล (สน.) มักกะสัน เบื้องต้นได้ประสานเจ้าหน้าที่เทศกิจสำนักงานเขตห้วยขวางประชาสัมพันธ์ไม่ให้มีผู้จอด หรือขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้าบริเวณแยกอโศก-เพชรบุรี รวมถึงประสาน สน.มักกะสันเพิ่มความเข้มงวดกวดขันวินัยจราจรและบังคับใช้กฎหมายกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่กระทำผิดกฎหมายจราจรอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ส่วนแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการนำเทคโนโลยีมาช่วยจับ-ปรับผู้กระทำผิดกฎหมายจราจร และกฎหมายอื่น ๆ เบื้องต้นได้นำร่องในความผิดฐานจอด หรือขับขี่รถบนทางเท้า ตั้งแต่วันที่ 12 มิ.ย.66-23 ก.พ.67 ตรวจพบผู้กระทำผิด 61,633 ราย ออกหนังสือเชิญมาให้ถ้อยคำ 7,940 ราย ว่ากล่าวตักเตือน 214 ราย เปรียบเทียบปรับ 340 ราย เป็นเงิน 258,300 บาท ซึ่ง สนท.ได้เร่งรัดให้สำนักงานเขตที่ติดตั้งกล้องระบบ AI ออกหนังสือเชิญเจ้าของรถมาให้ถ้อยคำให้ครบทุกรายโดยเร็ว และกรณีที่รถไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจจับของกล้อง AI จะประสานเจ้าหน้าที่เทศกิจ สำนักงานเขตให้บูรณาการร่วมกับสถานีตำรวจนนครบาลพื้นที่ และกรมการขนส่งทางบก เพื่อบังคับใช้กฎหมายกับผู้ฝ่าฝืนกระทำผิดในเรื่องดังกล่าว
นอกจากนั้น ยังได้ดำเนินโครงการกวดขันรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จอด หรือขับขี่บนทางเท้า เพื่อดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้ทางเท้า โดยให้สำนักงานเขตบังคับใช้กฎหมาย ห้ามมิให้รถจอด หรือขับขี่บนทางเท้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 17 (2) แห่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่เทศกิจออกตรวจตรา กวดขัน เฝ้าระวังไม่ให้มีการกระทำผิด และตั้งโต๊ะจับ-ปรับรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ จอด หรือขับขี่บนทางเท้าในบริเวณพื้นที่ที่มีผู้ฝ่าฝืนจำนวนมาก หรือในจุดที่ประชาชนร้องเรียนเป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน ซึ่งที่ผ่านมาระหว่างเดือน ก.ค.61 - 25 ก.พ.67 สามารถกวดขันจับกุมผู้กระทำความผิดได้จำนวน 55,554 ราย เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 62,257,700 บาท
ที่มา: กรุงเทพมหานคร