นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางและเจ้าภาพการจัดประชุมและเทศกาลนานาชาติว่า จากการได้ร่วมมือกับสมาคมวิชาชีพต่างๆ ในประเทศไปเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการประชุมวิชาชีพระดับนานาชาติ ปรากฏว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 ได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ ประเทศไทยได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพการประชุมนานาชาติ 10 งาน
"การร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด รวมทั้งความโดดเด่นของไทยในด้านอุตสาหกรรมไมซ์ ทำให้ไทยได้รับชัยชนะ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมมากถึง 10 งาน"
ในบรรดาการประชุมขนาดใหญ่ที่ไทยได้รับชัยชนะนั้น ประกอบด้วยการประชุมทางการแพทย์ 6 งาน ที่เหลือเป็นงานการประชุมด้านวิศวกรรม การพัฒนาอย่างยั่งยืน และเรื่องสิทธิสตรี โดยคาดว่าจะมีผู้เข้ามาประชุมในไทยไม่น้อยกว่า 20,000 คน ประมาณการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้รับ 17,252 ล้านบาท
นายจิรุตถ์ กล่าวว่า นอกจากการเป็นเจ้าภาพประชุมวิชาชีพระดับนานาชาติดังกล่าวแล้ว ทีเส็บยังดึงงานระดับใหญ่มาลงที่เมืองไมซ์ในภูมิภาค เพื่อร่วมสนับสนุนการกระจายการพัฒนา ได้แก่ การประชุมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์วิทยาการด้านอาหารขององค์กรยูเนสโก (CoGs) มาจัดที่ภูเก็ต และการประชุมงาน Pinnacle Awards Asia Conference 2024 ของ International Festivals and Events Association - Asia (IFEA - Asia) มาจัดที่พัทยา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ IFEA-Asia มาจัดการประชุมใหญ่นอกประเทศเกาหลี
ในช่วงเวลาเดียวกัน ทีเส็บยังสนับสนุนการจัดงานขนาดใหญ่เกินหนึ่งพันคนขึ้นไปอีก 47 งาน ประกอบด้วยงานประชุมนานาชาติ 6 งาน เมกะอีเวนต์และเทศกาล 17 งาน งานประชุมองค์กรและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลจากต่างประเทศ 6 งาน และงานแสดงสินค้านานาชาติ 18 งาน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นงานแสดงสินค้าหน้าใหม่ 3 งาน สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 7,800 ล้านบาท
นอกจากนี้ มีกำหนดสนับสนุนการจัดงานในช่วงมีนาคมเป็นต้นไป อีกไม่น้อยกว่า 30 งาน ผู้ร่วมงานไม่น้อยกว่า 4 หมื่นคน ประมาณการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท
"สำหรับงานใหม่ๆ ที่ประเทศไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพ และมีความสำคัญในแง่ของการดึงดูดผู้จัดให้เห็นศักยภาพของไทยและมาจัดประชุมอย่างต่อเนื่องในอนาคต ประกอบด้วย งาน Money20/20 เป็นงานด้านเทคโนโลยีทางการเงินหรือ Fin Tech ครั้งแรกในไทย กับงาน FIFA Congress ก็จะเป็นครั้งแรกที่มาจัดในภูมิภาคอาเซียน"
ในปีงบประมาณ 2567 ทีเส็บมีเป้าหมายดึงนักเดินทางไมซ์เข้าไทย 23.2 ล้านคน สร้างรายได้ 1.4 แสนล้านบาท โดยให้ความสำคัญกับการดึงงานที่มีคุณภาพ กระจายการประชุมไปยังไมซ์ซิตี้ในภาคต่างๆ เพื่อให้อุตสาหกรรมไมซ์มีบทบาทช่วยกระตุ้นการพัฒนาประเทศ
ที่มา: วิเสจ