นายวัฒน์ชัย มงคลศรีสวัสดิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามเทคนิคคอนกรีต จำกัด (มหาชน) หรือ STECH เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในปี 2566 บริษัทมีกำไรสุทธิ 127.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.59% เทียบกับปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 100.78 ล้านบาท มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,969.43 ล้านบาท ลดลง 6.97% เทียบกับปีก่อนที่มีรายได้รวม 2,117.04 ล้านบาท โดยรายได้ที่ลดลงสาเหตุหลักมาจากการที่ปริมาณงานด้านก่อสร้างมีออกมาค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล
โดยรายได้จากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างยังทำได้ดีที่ 177.86 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8.89 ของรายได้รวมบริษัท ซึ่งเติบโตขึ้น 61.04 ลบ. หรือ 52.3% จากปีก่อน เนื่องจากรับรู้รายได้จากโครงการก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี สถานีไฟฟ้าแรงสูงสวรรคโลก - ทางหลวงหมายเลข 101 กิโลเมตรที่ 102+052 จังหวัดสุโขทัย โครงการก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี สถานีไฟฟ้าแรงสูงหนองหาน (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) จังหวัดอุดรธานี - สถานีไฟฟ้าสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร และโครงการก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี ช่วงทางหลวงหมายเลข 3 กิโลเมตรที่ 397+750 (ทางเข้าถนนองค์การบริหารส่วนตำบลวังกระแจะ) ถึงสถานีไฟฟ้าแหลมงอบ จังหวัดตราด ซึ่งทำให้ในปี 2566 บริษัทมีการรับรู้รายได้จากงานโครงการค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับ 2 ปีก่อนหน้า
ขณะที่รายได้จากการขายและให้บริการในปี 2566 อยู่ที่ 1,791.57 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนลดลงร้อยละ 10.43 สาเหตุหลักมาจากการที่ปริมาณงานก่อสร้างที่ลดลง
อย่างไรก็ดี ในปี 2566 บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 18.95 เทียบจากปีก่อนที่มีกำไรขั้นต้นร้อยละ 15.50 เนื่องจากมีการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้มีการขยายโรงงานคอนกรีตแห่งที่ 10 มีกำลังการผลิตที่ประมาณ 30,000-40,000 คิวต่อปี สามารถเพิ่มกำลังการผลิต 20-30% ของกำลังการผลิตรวม โดยมีการรับรู้รายได้จากการขยายงานในส่วนดังกล่าวเต็มปีในปี 2566 ที่ผ่านมา
สำหรับแผนธุรกิจปี 2567 บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้เติบโต 15-20% จากปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาพรวมธุรกิจของบริษัทมีสัญญาณดีขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 3/2566 ที่ผ่านมา และเชื่อว่างบประมาณการใช้จ่ายของภาครัฐที่จะออกมากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ จะทำให้งานโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศออกมามากขึ้น ส่งผลดีกับ STECH ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงที่จำเป็นสำหรับใช้ในงานก่อสร้าง สนับสนุนผลงานทั้งปีเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้
ประกอบกับโรงงานผลิตลวดเหล็ก ที่จังหวัดชลบุรี กดปุ่มเดินเครื่องเรียบร้อยแล้วและนำเสนอสู่ตลาดในนาม "SSW" สยามสตีลไวร์ "ลวดรักษ์โลก" ใช้รองรับสินค้าใหม่ในการพัฒนาโครงการของบริษัทราว 30% และที่เหลือดำเนินการขายให้กับลูกค้าอีกทางหนึ่ง มองว่าธุรกิจใหม่จะสนับสนุน STECH เข้าสู่การสร้าง New S-Curve และการบริหารต้นทุนได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องจากต้นทุนค่าลวดนับเป็นประมาณ 20-30% ของต้นทุนการผลิต และจะกลายเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต สร้างฐานกำไรให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ปัจจุบันบริษัทฯ มีงานในมือ (Backlog) มูลค่ารวมประมาณ 1,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ทยอยรับรู้รายได้ในปี 2567 นอกจากนี้ ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการติดตามงานที่ได้ยื่นประมูลไปแล้ว มูลค่ารวมประมาณ 1,400-1,500 ล้านบาท ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาบริษัทฯ มีโอกาสได้รับงานไม่ต่ำกว่า 50% ของการยื่นประมูล
ที่มา: ไออาร์ พลัส