ดร.ชินดนัย ไชยยอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ AMARC (เอมาร์ค) เปิดเผยว่าแผนธุรกิจปี 2567 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายรายได้เติบโต 10-15% เชื่อภาพรวมเศรษฐกิจมีทิศทางการเติบโตที่ดีจากภาพรวมการเติบโตของภาคเอกชน ทั้งบริการตรวจวิเคราะห์และบริการสอบเทียบ คาดว่าจะฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดที่คลี่คลาย ส่งผลให้ภาคธุรกิจเกษตร อาหาร กลับมาเติบโต ถือเป็นปัจจัยบวกสนับสนุนการเติบโตของ AMARC
สำหรับแผนธุรกิจในปีนี้ ตามที่บริษัทฯ ลงทุนในเครื่องมือวิทยาศาสตร์ระดับสูง และนักวิทยาศาสตร์ เพื่อขยายกำลังการให้บริการตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระบวนการขยายกำลังการให้บริการนี้ จะพร้อมและเริ่มส่งผลต่อกำลังการให้บริการในปี 2567 อย่างเห็นได้ชัด และจะลดแรงกดดันที่ต้องขยายกำลังการให้บริการในอัตราเร่งเช่นที่ผ่านมา ส่งผลทำให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่มีการลงทุนที่ลดลง นำมาซึ่งอัตรากำไรที่เหมาะสม เป็นการเติบโตแบบ Organic Growth ทั้งจากลูกค้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล และส่วนภูมิภาคที่บริษัทได้เริ่มบุกตลาดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
ในขณะที่บริษัทฯ มีการขยายธุรกิจของบริษัทย่อยและบริษัทร่วมค้า ซึ่งประกอบด้วย บริษัท เอมาร์ค โกลบอล เวริฟิเคชั่น จำกัด และบริษัท วีกรีน เคยู จำกัด โดย AMARC ถือหุ้น 33.32% โดยปี 2567 บริษัทยังมองหาโอกาสที่จะลงทุนในบริษัทอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัท
ล่าสุดประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในงวดปี 2566 มีรายได้รวม 289.21 ล้านบาท เติบโต 9.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีการเติบโตในกลุ่มงานบริการตรวจวิเคราะห์เป็นหลัก (Testing) เติบโต 9.2% ปัจจัยหลักจากการที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่มีการใช้บริการมากขึ้น ตามการผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารที่เริ่มกลับมาเป็นปกติของประเทศ รวมถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดสาขาในภาคตะวันออกและภาคเหนือ ส่วนกลุ่มงานสอบเทียบ (Calibration) ลดลง 6.3% จากงานโครงการขนาดใหญ่ที่ลดลง ถึงแม้ว่างานเอกชนจะเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ และกลุ่มงานตรวจสอบและรับรองระบบ (Inspection & Certification) รายได้เพิ่มขึ้น 42.8% จากการใช้งบประมาณของรัฐที่เริ่มกลับมาในสภาวะปกติ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 9.64 ล้านบาท น้อยกว่าปีที่ผ่านมา 33.6% สาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนบริการและค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารสูงกว่าการเติบโตของรายได้ รวมถึงผลกระทบค่าใช้จ่ายก่อนเปิดดำเนินการ และการเตรียมเปิดให้บริการของบริษัทร่วมและบริษัทย่อย เพื่อรองรับงานขยายกำลังการให้บริการและสร้างรายได้ในอนาคต
ทั้งนี้ เพื่อตอบแทนผู้ถือหุ้น และสะท้อนความเชื่อมั่นการเติบโตของธุรกิจในอนาคต ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ จากผลกำไรสุทธิสำหรับปีหลังหักสำรองตามกฎหมายในอัตราหุ้นละ 0.012 บาท และจ่ายเงินปันผลพิเศษจากกำไรสะสมยังไม่จัดสรร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ของบริษัทฯให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 0.027 บาท ซึ่งเป็นการจ่ายให้กับหุ้นสามัญจำนวน 420,000,000 หุ้น จากกำไรสุทธิส่วนที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) รวมทั้งสิ้น 0.039 บาทต่อหุ้น วันกำหนดสิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) เพื่อสิทธิในการรับเงินปันผล วันที่ 29 เมษายน 2567 วันที่จ่ายปันผล 17 พฤษภาคม 2567
ที่มา: ไออาร์ พลัส