8 ผู้ประกอบการอสังหาฯ ท็อปฟอร์ม ผลงานเด่น ปันผลสูง
พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ได้รวบรวมผลประกอบการ ปี 2566 ของ 8 ยักษ์บริษัทอสังหาริมทรัพย์ เปรียบเทียบให้เห็นว่า แต่ละบริษัท มีตัวเลขกำไร รายได้ และอัตราการเติบโตมากน้อยแค่ไหน และสิ่งนี้ส่งสัญญาณอะไรต่อตลาดอสังหาฯ ในปี 2567 สะท้อนให้เห็นแนวทางในการบริหารที่แตกต่างออกไป และส่งสัญญาณให้ต้องจับตาอะไรต่อตลาดอสังหาฯ ในปีนี้และหุ้นอสังหาริมทรัพย์จัดอยู่ในกลุ่มที่ให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ที่ค่อนข้างสูง สะท้อนจาก 8 บริษัทนี้มีระดับ Dividend Yield ที่ 6%-11% นำโดยแสนสิริ 11.0% ถัดมาคือ พฤกษา 7.7% เอสซี แอส เสท 7.2% ศุภาลัย 7% ควอลิตี้เฮ้าส์ 6.8% แลนด์แอนด์เฮ้าส์และเอพี ไทยแลนด์เท่ากับอยู่ที่ 6.6% ออริจิน 6% ตามลำดับ
แสนสิริแชมป์ผลประกอบการรายได้ อันดับ 1 รายได้รวม 39,082 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,060 ล้านบาท
แสนสิริ ตอกย้ำความแข็งแกร่งในธุรกิจอสังหาฯ โชว์ผลงานปี 66 ทำด้านรายรวมสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 อยู่ที่ 39,082 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.7% จากปีก่อนหน้า ซึ่งมาจากการเปิดตัวโครงการใหม่ทั้งแนวราบและแนวสูง โดยเฉพาะโครงการบ้านเดี่ยวในระดับลักซ์ชัวรี่ ด้านของกำไรสุทธิมาเป็นอันดับที่ 2 สูงถึง 6,060 ล้านบาท ซึ่งนับว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ก่อตั้งมาได้ 40 ปี หรือ ALL-TIME HIGH เพิ่มขึ้น 42% จากปี 2565 ที่มีกำไรสุทธิ 4,280 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ที่ 15.5%
แลนด์แอนด์เฮ้าส์ กำไรสุทธิสูงสุด 7,482 ล้านบาท รายได้รวม 30,170 ล้านบาท
แลนด์แอนด์เฮ้าส์ กลับมาครองแชมป์เป็นบริษัทที่ทำกำไรสูงสุดอีกครั้ง โดยโชว์ผลงานกำไรสุทธิ 7,482 ล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมา 10% แต่คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ที่ 24.8% ด้านรายได้ 30,170 ล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมา 17.9% โดยปีนี้มีแผนเปิดตัวโครงการใหม่ 11 โครงการ มูลค่า 30,200 ล้านบาท
เอพี ไทยแลนด์ มีรายได้ 38,399 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,054 ล้านบาท
ปีที่ผ่านมาเอพี ไทยแลนด์ สามารถสร้างรายได้อยู่ในอันดับ 2 ของกลุ่มตลาดอสังหาฯ โดยรายได้รวมจากสินค้ากลุ่มแนวราบ กลุ่มคอนโดมิเนียม (100% JV) และธุรกิจอื่นๆได้ 38,399 ล้านบาท ลดลง 0.8% หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน ด้านกำไรสุทธิ 6,054 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีกำไรสุทธิรวมเท่ากับ 5,877 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเท่ากับ 3% หรือคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ที่ 15.8% ปีนี้มีแผนเปิดตัวโครงการใหม่ 48 โครงการ มูลค่า 58,000 ล้านบาท
ศุภาลัย สร้างรายได้ 31,818 ล้านบาท กำไรสุทธิ 5,989 ล้านบาท
ศุภาลัย กวาดรายได้รวมที่ 31,818 ล้านบาท ลดลง 10.4% จากปี 2566 และสร้างผลกำไรสุทธิ 5,989 ล้านบาท ลดลง 27% หรือคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ที่ 18.8% ในปี 2567 เป็นปีที่ทุบสถิติเปิดตัวโครงการใหม่สูงสุด มูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ตั้งบริษัท ซึ่งเตรียมลงทุนเปิดตัวโครงการมากถึง 42 โครงการ มูลค่า 50,000 ล้านบาทในทำเลใหม่ๆ
พฤกษา มีรายได้ 26,132 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,205 ล้านบาท
ปี 2566 พฤกษาโฮลดิ้ง ทำกำไรสุทธิ 2,205 ล้านบาท ลดลง 21%หรือคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ที่ 8.4% มีรายได้ 26,132 ล้านบาท รายได้มาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจเฮลต์แคร์ และที่เหลือเป็นรายได้อื่น ๆ จากปี 2566 โดยปีนี้วางแผนเปิดตัวอสังหาริมทรัพย์ใหม่ทั้งหมด 30 โครงการ รวมมูลค่า 29,000 ล้าน แบ่งเป็นกลุ่มราคาเข้าถึงได้ 50% และกลุ่มราคากลางถึงบน หรือมากกว่า 7 ล้านบาท 50% ประกอบด้วยทาวน์โฮม 17 แห่ง, บ้านเดี่ยว 10 แห่ง และคอนโดมิเนียม 3 แห่ง
เอสซี แอสเสท รายได้รวม 24,566 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,482 ล้านบาท
เอสซี แอสเสท ทำรายได้ 24,566 ล้านบาท มีการเติบโตขึ้น 13.5% มากที่สุด ทำกำไรสุทธิ 2,482 ล้านบาท ลดลง 3% หรือคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ที่ 10.14% ในปี 2567 ตั้งเป้ายอดขายนิวไฮ 28,000 ล้านบาท และทุ่มงบลงทุนกว่า 25,000 ล้านบาท พร้อมลุยธุรกิจหลากหลาย ที่อยู่อาศัย, โรงแรม, คลังสินค้า และออฟฟิศ มากถึง 103 โครงการ
ออริจิ้น รายได้รวม 15,157 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,718 ล้านบาท
ออริจิ้น ทำรายได้ 15,157 ล้านบาท มีการเติบโตลดลง 3.7% ทำกำไรสุทธิ 2,718 ล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้ว 28% หรือคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ที่ 17.9% ในปีนี้มีแผนเปิดโครงการใหม่ในปี 2567 ทั้งสิ้น 14 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 20,000 ล้านบาท
ควอลิตี้เฮ้าส์ รายได้รวม 9,237 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,503 ล้านบาท
ควอลิตี้เฮ้าส์ ทำรายได้ 9,237 ล้านบาท ลดลง 2.2% ทำกำไรสุทธิ 2,503 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% หรือคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ที่ 27.1% สูงสุด ปี 2567 ตั้งเป้าแผนเปิด 6 โครงการ มูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท ในกรุงเทพมหานคร
คาดการณ์อสังหาริมทรัพย์ไทยปี 2567
นายอนุกูล รัฐพิทักษ์สันติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมตอบโจทย์ทุกบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ วิเคราะห์ว่า ปี 2567 เป็นปีแห่งความหวังในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ปัจจัยหนุนจากนโยบายภาครัฐที่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน เช่น การลดค่าใช้จ่ายให้ภาคครัวเรือน ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพลดลงและมีเงินเหลือ ไปใช้จ่ายอย่างอื่นได้ รวมถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยว และเปิดประเทศเป็นแหล่งผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ให้ธุรกิจต่างชาติ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้อย่างเต็มที่ และผู้ประกอบการอสังหาฯมีการปรับแผนธุรกิจให้มีความเหมาะสม ชูจุดแข็งที่แตกต่างกัน บางบริษัทชะลอการเปิดโครงการเพื่อรอประเมินสถานการณ์ บางบริษัทเดินหน้าเปิดโครงการใหม่แบบเต็มกำลัง หรือบางบริษัทก็ยังคงขยายในตลาดที่อยู่อาศัยไปพร้อมกับพยายามหารายได้จากช่องทางอื่นๆ ควบคู่กันไป แต่ในภาพรวมของปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับข้อมูลศูนย์อสังหาริมทรัพย์ (REIC) ที่คาดการณ์ว่า ตลาดที่อยู่อาศัยจะฟื้นตัวขึ้น โดยเป็นผลมาจากการปรับตัวของผู้ประกอบการในตลาดมีการปรับสมดุลระหว่างสินค้าเหลือขายและสินค้าเข้าใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ 108,886 ยูนิต เพิ่มขึ้น 13.7% แต่ในภาพรวมอสังหาฯรายใหญ่ๆของประเทศ ก็ยังคงตบเท้าโชว์ฟอร์มผลประกอบการที่สวยงามสะท้อนถึงแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจอสังหาฯ ที่ดี
อย่างไรก็ตามตลาดอสังหาฯยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าติดตามและเตรียมรับมือในอีกหลายประเด็น ทั้งทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ที่จะมีผลกระทบต่อประเทศไทย แนวโน้มราคาพลังงานและราคาโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น กดดันให้ต้นทุนและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจากธนาคาร อย่างไรก็ดี พลัส พร็อพเพอร์ตี้ เชื่อมั่นว่าปี 2567 ธุรกิจอสังหาฯ ยังคงมีศักยภาพในการเติบโต ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวและหาโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ
*ข้อมูลที่พลัสฯ รวบรวมนำเสนอจาก www.set.or.th ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567
ที่มา: พลัส พร็อพเพอร์ตี้