จุดเริ่มต้นของโครงการ She Feeds the World ประเทศไทย สืบเนื่องมาจากปัญหาภาคการเกษตรในประเทศไทย ที่เกษตรกรในตลาดแรงงานมีรายได้ต่ำที่สุดและมีการเติบโตช้าที่สุดเมื่อเทียบกับภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เพียงร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี พ.ศ. 2562 พร้อมทั้งอีกปัญหาสำคัญของเกษตรกรไทยในปี พ.ศ. 2560 ที่พบว่า ร้อยละ 40 ของครัวเรือนไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง ร้อยละ 42 สามารถเข้าถึงน้ำเพื่อการเกษตรและมีเพียงร้อยละ 26 เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงระบบชลประทานได้ พร้อมด้วยปัญหาความเสื่อมโทรมของดิน จากการที่เกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากเกินไป อีกทั้งยังตระหนักถึงความสำคัญของเกษตรกรรายย่อยที่มีบทบาทสำคัญในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในระดับประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ได้กำหนดในเรื่องการพัฒนาประเทศด้านการเกษตรที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านการผลิตและบริโภคไปสู่ความยั่งยืน มุ่งลดการก่อมลพิษควบคู่ไปกับการผลักดันให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจน และการส่งเสริมบทบาทหญิงชาย ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของ "องค์การสหประชาชาติ" (United Nations)
จากปัญหาและปัจจัยข้างต้นที่กล่าวมา จึงเป็นที่มาของการจัดโครงการ She Feeds the World ประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวทางปฏิบัติด้านการเกษตรที่ยั่งยืนและการเกษตรแบบยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศสำหรับเกษตรกรไทยรุ่นต่อไป เสริมสร้างระบบการเกษตรและการตลาดนอกเหนือจากชุมชนผ่านพันธมิตร ความร่วมมือ และนวัตกรรม และสนับสนุนการเสริมพลังของผู้หญิงและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยโดยการเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานทางสังคมและเพศที่เลือกปฏิบัติ
ดร. มลชยา เตชะไพบูลย์ กรรมการ มูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวถึงแผนการดำเนินโครงการฯ ว่า "โครงการนี้มีระยะเวลาในการดำเนินการตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2565-2567 เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยโครงการจะมุ่งเน้นเพื่อพัฒนากลุ่มเกษตรกรหญิงและกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน น่าน และพะเยา ส่งเสริมการสร้างระบบการเกษตรและการตลาดเพื่อเกษตรกรรายย่อย และสนับสนุนการเสริมพลังของผู้หญิงในภาคการเกษตร โดยมูลนิธิรักษ์ไทยได้ประสานหน่วยงานและภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนเกษตรกรหญิงและเกษตรกรคนรุ่นใหม่ภายใต้โครงการนี้ พร้อมทั้งร่วมกับองค์กรชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือเพื่อให้คนในพื้นที่เข้าถึงโภชนาการที่ดี มีน้ำสะอาดอย่างเพียงพอเพื่อทำการเกษตรและอุปโภคบริโภค ตลอดจนมีความมั่นคงทางอาหารและมั่นคงทางรายได้อีกด้วย"
โครงการ She Feeds the World ประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจาก มูลนิธิเป๊ปซี่โค ที่ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาของเกษตรกรหญิงและเกษตรกรคนรุ่นใหม่ที่กำลังเผชิญอยู่ ซึ่งกำลังส่งผลกระทบในระดับประเทศ และเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ทางมูลนิธิเป๊บซี่โคต้องเข้ามาช่วยแก้ไขและสนับสนุน "ด้วยพันธกิจหลักของมูลนิธิเป๊ปซี่โคที่มีต่อการจัดการกับระบบอาหารในระดับโลก เรามุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน" คุณซีดี กลิน ประธานมูลนิธิเป๊ปซี่โคกล่าว "ด้วยความร่วมมือกับองค์การแคร์ มูลนิธิเป๊ปซี่โคมีความมุ่งมั่นที่จะขยายโครงการ She Feeds the World เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับเกษตรกรหญิงและเกษตรกรรุ่นใหม่ให้มากขึ้น พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนาแนวทางปฏิบัติด้านการเกษตรที่ยั่งยืน และกำหนดบรรทัดฐานทางเพศใหม่ในการเกษตร"
นางสาวบุษบา วงศ์นภาไพศาล ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และรัฐกิจประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท เป๊ปซี่โค เซอร์วิสเซส เอเชีย จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า "โครงการ She Feeds the World สอดคล้องกับกลยุทธ์ pep+ (PepsiCo Positive) ของเป๊ปซี่โค ในด้านการเกษตรเชิงบวก (Positive Agriculture) โดยการนำระบบเกษตรแบบฟื้นฟู (Regenerative Agriculture) มาเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการผลิต และเพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ของผู้คนในภาคเกษตรกรรม เราเชื่อว่าด้วยการตั้งเป้าหมายที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก โครงการ She Feeds the World จะช่วยปรับปรุงแนวทางการเพาะปลูก เพิ่มผลผลิต และกระจายทางเลือกในการดำรงชีวิตเพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนสำหรับอนาคต"
โดยภายในงานยังมีการจัดงานเสวนาในหัวข้อที่น่าสนใจเรื่อง ประสบการณ์และแนวทางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากโครงการ โดยมีตัวแทนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมาร่วมพูดคุยและแชร์ความรู้ที่ได้รับ พร้อมบอกเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการได้เข้าร่วมโครงการ โดยมีตัวแทนของผู้เข้าร่วมโครงการ คุณทิวากร ธนู จังหวัดเชียงราย: เกษตรหยัดยืน ความท้าทายของเกษตรกรรุ่นใหม่ ในวิถีชีวิตใหม่, คุณสมคิด ธีระสิงห์ จังหวัดลำพูน: วิถีเกษตร ทำเท่าเดิมหรือลดลง นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดตัวแทนชาวบ้าน, คุณกุสุมา เปรมชื่มพนาวรรณ จังหวัดเชียงใหม่: ออมทรัพย์กับการพัฒนาศักยภาพและบทบาท ผู้หญิงในชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ และ คุณหล้า กันทะปัน จังหวัดเชียงราย: บทบาทผู้หญิงกับการพัฒนาชุมชนในภาวะการปรับตัวด้านการเกษตร
มูลนิธิรักษ์ไทย ภายใต้การดำเนินงานที่เป็นสากลระดับโลก ในฐานะสมาชิกองค์การแคร์นานาชาติ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2540 เพื่อสานต่องานของ CARE International (ประเทศไทย) ในการสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง และช่วยเหลือผู้เปราะบาง ภายใต้การดำเนินงานโครงการหลัก 5 ประการ คือ ส่งเสริมบทบาททางเศรษฐกิจของผู้หญิง (Women's Empowerment), ส่งเสริมพัฒนาการเด็กและเยาวชน (Children/Youth), สิ่งแวดล้อม (Environment), สุขภาพ (Health), บรรเทาสาธารณภัย (Emergency Response) ภายใต้วิสัยทัศน์ "ประชาคมเข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้สิทธิความเสมอภาค สามารถกำหนดอนาคตของตนเองและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน" และยุทธศาสตร์ "เสริมสร้างศักยภาพ ชุมชนยากจนและกลุ่มด้อยโอกาส โดยการวิเคราะห์แก่นแท้ของปัญหากำหนดและดำเนินการทางเลือกที่เหมาะสม และส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในงานพัฒนาอย่างยั่งยืน"
ที่มา: มูลนิธิรักษ์ไทย