เส้นทางกว่าจะมาเป็นผู้บริหารหญิงของธนาคารระดับโลกไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ยากเกินความตั้งใจ
ชีวิตในวัยเด็ก นฤมล หรือโฟร์ท เติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะปานกลางกับคุณแม่ที่เป็นซิงเกิลมัม ซึ่งทำหน้าที่ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง โดยเฉพาะการทุ่มเทเพื่อให้ลูกมีการศึกษาที่ดี เกิดเป็นแรงผลักดันให้โฟร์ทมีเป้าหมายและตั้งใจว่าต้องทำให้คุณแม่ภูมิใจ และเห็นว่าเธอคือการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดในชีวิต ด้วยความมุ่งมั่นบวกกับการต้องผ่านบททดสอบต่าง ๆ ในแต่ละช่วงชีวิต ประสบการณ์เหล่านั้นได้หล่อหลอมให้โฟร์ทเติบโตมาอย่างแข็งแกร่ง จนเป็นนฤมล จิวังกูร ที่ประสบความสำเร็จในวันนี้
โฟร์ท ได้พลิกบทบาทการทำงานที่สร้างกระแสฮือฮาให้กับคนในสังคมได้รู้จักอีกด้านหนึ่งของเธอในฐานะผู้บริหารด้านการเงินและธนาคาร โดยมีโอกาสได้ร่วมงานกับซิตี้แบงก์ในปี 2539 ด้วยความที่เป็นคนที่มีความมุ่งมั่นทุ่มเทกับทุกโอกาสที่ได้รับแบบเกินร้อย จึงเป็นแรงผลักดันทำให้โฟร์ทสามารถสร้างผลงานได้อย่างโดดเด่นเรื่อยมา แต่นั่นไม่ใช่แรงผลักดันเดียว เพราะต่อมาในปี 2558 โฟร์ทได้ก้าวผ่านบททดสอบอีกขั้น ด้วยการเป็นผู้หญิงคนแรกในภูมิภาคอาเซียน ที่รับการโปรโมตให้ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานตลาดเงินตลาดทุน และหลักทรัพย์บริการ ซึ่งมีคนกล่าวต้อนรับเธอตั้งแต่วันแรกของการทำงานว่า "ยินดีต้อนรับสู่เกมของผู้ชาย" แม้ประโยคดังกล่าวจะฟังดูน่าตกใจ แต่ก็สร้างความรู้สึกตื่นเต้น และความต้องการพิสูจน์ตัวเองขึ้นในใจ ว่าผู้หญิงเองก็สามารถทำงานที่อาศัยการวิเคราะห์และการตัดสินใจที่เฉียบขาดได้ดีไม่ต่างจากผู้ชาย
หลังสั่งสมประสบการณ์การบริหารงานและการเป็นคนที่ตั้งใจทำอะไรแล้วต้องไปให้สุดทาง ในปี 2566 ที่ผ่านมา โฟร์ทได้ตัดสินใจพุ่งชนกับความท้าทายครั้งใหม่ ด้วยการลงสมัครตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สูงที่สุดในสายงานบริหารของธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย หลังการสัมภาษณ์และผ่านบททดสอบเข้มข้นหลายขั้นตอน ในที่สุดเธอก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ผู้หญิงและคนไทยคนแรกที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว โดยโฟร์ทได้เล่าความรู้สึกของช่วงเวลานั้นไว้ว่า
"ในวันที่ประกาศแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ มีพนักงานซิตี้แบงก์จากทั่วโลกส่งอีเมลมาร่วมแสดงความยินดีกับเรามากมาย หนึ่งในนั้นมาจากพนักงานหญิงชาวเกาหลีใต้ซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อน โดยข้อความนั้นเขียนว่า 'คุณได้ทลายเพดานแก้วลง (Glass Ceiling) และเปิดประตูให้กับผู้หญิงคนอื่น ๆ ในสายงานนี้' พอได้อ่านก็รู้สึกว่าเป็นข้อความที่ทรงพลังมาก ทำให้เราตั้งใจว่า จะทำหน้าที่ในจุดนี้ให้ดีที่สุด เพื่อพิสูจน์ว่าแม้แต่งานที่เป็น 'อาชีพสำหรับผู้ชาย' ก็ไม่สามารถหยุดคุณได้ หากคุณมีความเชื่อมั่นในตัวเอง"
บทบาทผู้บริหารหญิงกับการสร้างพื้นที่สำหรับทุกคน
ความตั้งใจหนึ่งที่มาพร้อมกับความปรารถนาอันแรงกล้าที่โฟร์ทลงมือทำควบคู่ไปกับการบริหารงานคือ การสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศในสายงานการเงิน ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ก่อนจะได้รับตำแหน่งผู้นำสูงสุดขององค์กร โดยเธอเป็นผู้ก่อตั้ง Women Network ของธนาคารซิตี้แบงก์ประเทศไทย อันมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในเครือข่ายพนักงานหญิง และเป็นพื้นที่ให้ทุกคนแลกเปลี่ยนแนวทางการสร้างความเท่าเทียมทางเพศในที่ทำงานอย่างสร้างสรรค์ ปัจจุบันเครือข่ายดังกล่าวยังคงดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และโฟร์ทยังคงเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาให้แก่คณะทำงานรุ่นหลัง
โฟร์ท กล่าวเสริมว่า "โชคดีที่ในประเทศไทย ระดับความเหลื่อมล้ำทางเพศของสายงานการเงินไม่สูง บอร์ดบริหารของธนาคารซิตี้แบงก์ประเทศไทย ประกอบด้วยผู้บริหารหญิงมากกว่าครึ่งหนึ่ง ตอนนี้สิ่งที่ให้ความสำคัญในฐานะผู้บริหารคือทำอย่างไรให้ทุกคนในองค์กรสามารถแสดงศักยภาพของตัวเองได้ โดยไม่มีขีดจำกัดในเรื่องเพศ อายุ และตำแหน่ง จะต้องไม่มีใครเป็น Voice Unheard หรือเสียงที่ไม่มีใครได้ยิน อย่างในการประชุมที่มีคนนั่งเต็มห้องกลับมีคนที่ได้พูดอยู่เพียงไม่กี่คน เราจึงพยายามเรียกพนักงานระดับ Junior หรือคนที่นั่งเงียบ ๆ ว่ามีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง และไอเดียของคนกลุ่มนี้ดีจนน่าทึ่งเสมอ เพราะพวกเขาฟังเยอะ คิดเยอะ นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างองค์กรที่ทุกคนมีบทบาทและกล้าที่จะเป็นผู้นำ"
ถึงผู้นำหญิงในอนาคต
ในโอกาสวันสตรีสากลประจำปี 2567 ในฐานะผู้บริหารหญิง ได้ฝาก 3 ข้อแนะนำทิ้งท้าย สำหรับผู้หญิงทุกคนที่มีความฝันเป็นอยากเป็นผู้นำในโลกแห่งการทำงานว่า หนึ่ง "กับดักของความสำเร็จคือ Comfort Zone การทำในสิ่งเดิม ๆ เป็นเรื่องง่าย แต่หากไม่ปรับตัวหรือออกไปเผชิญความท้าทาย ตัวคุณก็จะยังคงย่ำอยู่กับที่แม้โลกจะหมุนไปข้างหน้า ข้อที่สอง ให้คิดบวกและพร้อมปรับตัวอยู่เสมอ เราอาจจะไม่ได้เจอสิ่งดีๆทุกวัน แต่ในทุกวันเราสามารถมีช่วงเวลาดี ๆ เพียงสั้น ๆ เพื่อเติมพลังบวกให้เราได้ และอุปสรรคกับการทำงานเป็นของคู่กัน เมื่อไรที่ล้มต้องลุกขึ้นให้เร็ว และยืนหยัดให้ได้ด้วยตัวเอง สิ่งนี้จะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น และสุดท้ายคือความมีน้ำใจหรือการให้ ไม่ว่าคุณจะสวยหรือแต่งตัวดูดีเพียงใด ผู้คนจะจำได้จากการที่คุณปฏิบัติต่อพวกเขา ดังนั้นปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเคารพเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และในฐานะของผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงาน การส่งต่อให้ผู้อื่น (Pay It Forward) การให้การสนับสนุนและช่วยให้ผู้อื่นได้เติบโต และสร้างการไม่แบ่งแยกในที่ทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟังเสียงที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน คุณอาจได้แนวคิดที่ยอดเยี่ยมจากพวกเขาเหล่านั้น"
ที่มา: เจซีแอนด์โค คอมมิวนิเคชั่นส์