ด้าน นายภพธร กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของนวัตกรรมเทคโนโลยีโฟมดูดน้ำมัน มาจากการตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเล และชายหาด ซึ่งส่งผลกระทบอย่างเฉียบพลันและในระยะยาวต่อมนุษย์ สัตว์หรือสิ่งมีชีวิตในทะเลและบนบก สิ่งแวดล้อม รวมถึงระบบนิเวศ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการดูดซับน้ำมันจึงมีความสำคัญและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ร่วมกันหาวัสดุรอบตัวเพื่อนำมาจัดการกับปัญหาดังกล่าว
ขณะที่ นายพฤติพงศ์ กล่าวว่า นวัตกรรมดังกล่าวเริ่มต้นจากการนำผักตบชวาไปตากแดดหรืออบให้แห้ง จากนั้นบดให้มีขนาดเล็กลงจนเป็นเส้นใย แล้วนำไปทำความสะอาดด้วยวิธีการฟอกจนได้เป็นสีขาว ขั้นตอนต่อไปคือการบดให้ละเอียด แล้วสกัดจนออกมาเป็นผลึกนาโนเซลลูโลส จากนั้นนำไปผสมกับน้ำยางพาราบริสุทธิ์ ขึ้นรูปจนได้โฟมยาง และได้ศึกษาประสิทธิภาพการดูดซับน้ำมัน ประสิทธิภาพการนำกลับมาใช้ซ้ำร่วมด้วย ที่ได้ทดสอบกับน้ำมันชนิดต่าง ๆ ร่วมด้วย จุดเด่นของผลงานนี้ หากน้ำมีน้ำมันปะปนกันอยู่โฟมจะทำหน้าที่ดักจับเฉพาะน้ำมัน และเมื่อรีดน้ำมันออกสามารถนำโฟมไปใช้ซ้ำได้อีกมากกว่า 40-50 ครั้ง รวมถึงน้ำมันที่ดักจับได้ สามารถนำไปใช้งานต่อได้ด้วย ขณะเดียวกับโฟมยางที่พัฒนาขึ้นนี้ มีน้ำหนักเบา ต้นทุนต่ำ เคลื่อนย้ายได้ง่ายทำให้สะดวกต่อการนำไปใช้งาน และยังสามารถขึ้นเป็นรูปทรงต่าง ๆ ได้อีกด้วยเพื่อให้ง่ายและเข้าถึงต่อพื้นที่ และผลงานดังกล่าวยังถือเป็นการแก้ปัญหาใน 2-3 มิติ กล่าวคือการลดปัญหาวัชพืชของผักตบชวา และสนับสนุนการใช้ยางพาราให้มีความแพร่หลายมากยิ่งขึ้น เมื่อเข้าสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์
รศ.ดร.วารุณี กล่าวว่า หลักสูตรของคณะวิศวกรรมศาสตร์ เน้นการทำงานวิจัยที่นอกจากจะตีพิมพ์ได้ระดับฐานข้อมูลสากลแล้วยังพยายามออกแบบแนวคิดให้นักศึกษาได้หันมาสนใจการทำนวัตกรรมควบคู่กันโดยมีต้นแบบจากรุ่นพี่ในแลป และส่งเสริมให้เข้าร่วมการประกวดผลงานทั้งในระดับชาติและนานาชาติ โดยเน้นผลงานที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง จึงเป็นที่มาของผลงานดังกล่าว ผลงานเทคโนโลยีโฟมดูดน้ำมันนี้ช่วยแก้ปัญหาที่หลากหลาย โดยเฉพาะประเด็นด้านพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ ทั้งนี้เตรียมขยายสเกลและนำไปทดลองจริง ควบคู่กับการพัฒนาคุณสมบัติที่มากยิ่งขึ้นต่อไป นอกจากนี้ยังเป็นนวัตกรรมเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำให้มีสภาพพร้อมใช้ ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 549 3400
ที่มา: แมวกวัก