ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้ร่วมมือกับห้าง Big C จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทย (In-store Promotion) ณ ห้างสรรพสินค้า Big C ในทุกสาขา และได้จัดกิจกรรมพิธีเปิด ณ สาขาซิมซาจุ่ย โดยมีสินค้าไทยที่นำมาจัดการส่งเสริมการขายจำนวนมาก อาทิ ผลไม้ ข้าว สินค้าอุปโภคบริโภค ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากชาวฮ่องกงเป็นอย่างดี ที่เข้ามาชมและเลือกซื้อสินค้า และได้เยี่ยมชมการจำหน่ายสินค้าไทยในห้าง พบว่า มีสินค้าไทยจำหน่ายเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันมีจำหน่ายแล้ว 4,200 รายการ และหากรวมการลงนาม MOU ในครั้งนี้ จะมีสินค้าไทยเพิ่มเข้าไปอีก 250 รายการ
นายภูมิธรรม ยังกล่าวเสริมว่า การมาเยี่ยมชมห้าง Big C ในครั้งนี้ ตนได้มีโอกาสได้ชิมสินค้าขนมอบแห้ง 2 ชนิด ได้แก่ ข้าวเหนียวมะม่วงและข้าวเหนียวทุเรียนอบแห้ง ซึ่งมีรสชาติและกลิ่นเหมือนข้าวเหนียวมะม่วงและข้าวเหนียวทุเรียนแท้ๆ จากประเทศไทย ประกอบกับสินค้าหลายๆ รายการได้มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความทันสมัย ถือว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าไทยได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าการเปิดของห้างสรรพสินค้า Big C ในฮ่องกงนี้จะเปรียบเสมือนตลาดปลายทางที่สามารถช่วยขายสินค้าไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการยกระดับห่วงโซ่มูลค่าของสินค้าไทยตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ และผลักดันให้เกิดการซื้อสินค้าไทยในต่างประเทศได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ตนยังได้หารือกับผู้บริหารห้าง Big C เพื่อขยายโอกาสทางการตลาดแก่ผู้ประกอบการไทยต่อไป รวมทั้งได้ขอบคุณที่ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทย และได้ขอทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับความต้องการสินค้าและพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวฮ่องกงและชาวต่างชาติที่ทำงานในฮ่องกง เพื่อนำไปต่อยอดและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายอื่นของไทย และแจ้งว่า หากมีปัญหาหรืออุปสรรคในการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยในปัจจุบัน และสิ่งที่ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ให้การสนับสนุนก็ให้แจ้งมา พร้อมที่จะดำเนินการแก้ไขให้
สำหรับห้างสรรพสินค้า Big C ได้จัดพิธีเปิดอย่างเป็นทางการที่ Flagship Store สาขาซิมจาจุ่ย (Tsim Sha Shui) เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 โดยเข้าซื้อกิจการจาก AbouThai ซึ่งเป็นเชนร้านสะดวกซื้อท้องถิ่นจำนวน 24 สาขา และตั้งเป้าที่จะขยายสาขาอย่างต่อเนื่องปีละ 25 สาขา เป็น 99 สาขา คาดการณ์ยอดขาย 1,500 ล้านเหรียญฮ่องกง (ประมาณ 7,500 ล้านบาท) ภายในสิ้นปี 2569 โดยมีแผนจะจดทะเบียนควบ (Dual Listing) ทั้งในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมองเห็นโอกาสสินค้าไทยที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีจากชาวฮ่องกง โดยจะเพิ่มความหลากหลายของสินค้าอีกกว่า 3 เท่าตัว ครอบคลุมสินค้าทุกประเภท อาทิ อาหาร เครื่องดื่ม อาหารสำเร็จรูป อาหารแปรรูป อาหารแช่เย็นแช่แข็ง ผัก ผลไม้ ขนมขบเคี้ยว ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว สบู่ แชมพู สมุนไพร เป็นต้น
สำหรับผู้ประกอบการไทย 10 ราย ที่ได้เข้าร่วมลงนามใน MOU ได้แก่ 1.บจก. หยั่น หว่อ หยุ่น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป สินค้าซอสปรุงรส 2. บจก. ข้าวแสนดี สินค้าข้าว 3.บจก. นารา ทรี สินค้าเซรัมน้ำมะพร้าวสกัดเย็น 4.บจก.ซันไชน์ อินเตอร์เนชั่นแนล สินค้า ผลไม้อบกรอบ 5.บจก.โอยั๊วะ เทรดดิ้ง สินค้าหนังไก่ทอด หนังปลาแซลมอนทอด 6.บจก.สยาม คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ สินค้า ผลไม้อบกรอบ อบแห้ง 7.บจก.สยาม ดีไลท์ กรุ๊ป บจก. สินค้า ขนมทองม้วน กล้วยน้ำว้าอบ 8.บจก.ปาลิดา อินเตอร์ ฟู๊ด บจก. สินค้ากล้วยอบกรอบ ทุเรียนอบกรอบ 9.บจก.เดอะ โกลด์กรีน สินค้าข้าวแต๋นทรงเครื่อง ผลไม้อบแห้ง 10.บจก.ทองอำไพ ควอลิตี้ฟู้ด สินค้าข้าวแต๋น โดยภายในงานมีนายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นายจาตุรนต์ ไชยะคำ กงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล CEO และ President บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC นางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC และนายวารุฒน์ แสนสีมิ่ง Operation Head, Big C (HK) Company Limited เข้าร่วม
ที่มา: กระทรวงพาณิชย์