ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) และประธานกรรมการหลักสูตร สุดยอดการบริหารธุรกิจด้วยกฎหมายสำหรับผู้นำองค์กร (Super LBA) รุ่นที่ 1 เปิดเผยว่า การบริหารองค์กรธุรกิจในปัจจุบันต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการทำงานที่เข้าสู่โลกยุคดิจิทัล ทักษะการทำงานรูปแบบใหม่ ที่ต้องสอดรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น การบริหารธุรกิจและองค์กรในยุคปัจจุบันไม่อาจเหมือนเดิมได้อีกต่อไป ผู้นำองค์กรและผู้บริหารธุรกิจของไทยต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงใหม่ๆ ที่อุบัติขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี (technology disruption) โรคอุบัติใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้คน เกิดยุคNew Normal ซึ่งทำให้ภาครัฐและภาคธุรกิจ ต้องปรับวิธีการทำงานและรูปแบบการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป
ทั้งนี้ ปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่ง ที่เชื่อมโยงกับทุกองค์กรทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจอย่างไม่สามารถปฏิเสธได้ คือ กฎกติกาทางกฎหมาย ซึ่งอาจเป็นทั้งความเสี่ยง อุปสรรค โอกาสและความท้าทาย ซึ่งอยู่ที่ว่าผู้นำขององค์กรและผู้บริหารธุรกิจจะรู้จักใช้ประโยชน์ จากปัจจัยนี้ให้เกิดประสิทธิภาพได้อย่างไร ดังนั้นหากผู้นำองค์กรมีความรู้ด้านกฎหมายว่าเกี่ยวข้องกับองค์กรหรือธุรกิจอย่างไรและสามารถเข้าใจกฎหมายได้อย่างรวดเร็ว จะทำให้สามารถประยุกต์ใช้กฎหมายมาแก้ไขปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการธุรกิจหรือองค์กร ให้มีความทันสมัยและสามารถยืนหยัดได้ในทุกสถานการณ์ของโลกทั้งในยุค New Normal และ Next Normal
ดร.สุทธิพล กล่าวด้วยว่า ปัญหาของผู้นำองค์กรหรือผู้บริหารในยุคปัจจุบัน คือ จะทำอย่างไรจึงจะเข้าใจกฎหมายได้อย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการธุรกิจหรือองค์กรได้ คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และด้วยความพร้อมทั้งในด้าน know-how บุคลากร สถานที่และการบริหารจัดการ จึงจัดทำโครงการศึกษาอบรมหลักสูตร "สุดยอดการบริหารธุรกิจด้วยกฎหมายสำหรับผู้นำองค์กร รุ่นที่ 1 (Super Legal Business Administration Leadership Program or 1st Super LBA)" โดยเป็นหลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวแห่งนวัตกรรมการเรียนรู้ในมิติใหม่ ที่บูรณาการศาสตร์ทางด้านการบริหารธุรกิจกับศาสตร์ทางด้านกฎหมายและเทคโนโลยีไว้ด้วยกัน เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงในระดับผู้นำองค์กรทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการใหม่ๆ ความเสี่ยงที่อุบัติใหม่ พัฒนาการทางด้านเทคโนโลยี ประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประเด็นปัญหาอุปสรรคต่างๆ และกลยุทธ์ในการนำกฎหมายไปช่วยบริหาร จัดการธุรกิจ องค์กร และความเสี่ยง รวมทั้งเสริมสร้างการเป็นผู้นำที่มีคุณธรรม จริยธรรม และการบริหารจัดการเชิงสร้างสรรค์
ดร.สุทธิพล กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักสูตรดังกล่าวได้เชิญสุดยอดผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ด้านการบริหาร ด้านกฎหมายและเทคโนโลยี จำนวนกว่า 42 ท่าน ร่วมเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เข้าร่วมอบรม ซึ่งแต่ละท่านล้วนเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ ที่รู้ลึก รู้จริง และรู้รอบด้านในศาสตร์นั้นๆ อาทิ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมคุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมไทย คุณอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ คุณสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย ดร. สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย และ ผู้ทรงคุณวุฒิระดับศาสตราจารย์ทางกฎหมายจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอีกหลายท่าน
หลักสูตร Super LBA รุ่นที่ 1 ประกอบด้วย หัวข้อการอบรม 7 Modules กว่า 38 รายวิชา รวมจำนวน 116 ชั่วโมง เน้นการฝึกปฏิบัติ ศึกษาดูงานและถกแถลง หัวข้อการอบรม อาทิ เจาะลึก Pain-Points ของภาคธุรกิจ Key Success และ Digital Mindset เทคนิค Design Thinking Process เทคนิคบริหารจัดการความเสี่ยง การพัฒนา Leadership Skills และ ถอดรหัสการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พร้อมด้วย เทคนิคการทำกฎหมายให้เป็นเรื่องง่าย กลยุทธ์ในการนำกฎหมายไปช่วยบริหารจัดการธุรกิจและองค์กร รวมทั้ง การวิเคราะห์โอกาสและความท้าทายในธุรกิจหลากหลายมิติ workshop การเจรจาต่อรอง และการหยิบยก Case Studies มาวิเคราะห์
นอกจากนี้ ยังจัดให้มี Legal advisory clinic ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมสามารถปรึกษาปัญหาด้านกฎหมายต่าง ๆ ฟรีอีกด้วย หลักสูตร Super LBA รุ่นที่ 1 มีระยะดำเนินการอบรม ระหว่างเดือนมิถุนายน - พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ถึง 30 เมษายน 2567 ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://superlba.dpu.ac.th หรือ โทร. 081-1789244, 094-7205970 หรือ E-mail : [email protected]
ที่มา: มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์