นายมงคล ตั้งศิริวิช ประธาน ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ดูแลกลุ่มคลัสเตอร์ ประเทศไทย ลาว และเมียนมา เผยว่า ปีที่ผ่านมา รายได้ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ทั่วโลก มีความเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาจากหลายๆ องค์กรที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างความยั่งยืน และได้นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ซึ่งผลประกอบการปี 2566 ของชไนเดอร์ อิเล็คทริค ทั่วโลกมีรายได้ 35,902 ล้านยูโร โตขึ้น 13 เปอร์เซ็นต์ โซลูชั่นของ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค เป็นโซลูชั่นที่ช่วยให้องค์กรสร้างความยั่งยืน เราสามารถช่วยให้ลูกค้าทั่วโลกลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 112 ล้านตันในปี 2566 ภายในเพียงปีเดียว เทียบเท่ากับการดูดซับคาร์บอนของต้นไม้ประมาณ 11,200 ล้านต้น หรือมากกว่า
ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศนับเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ต้องอาศัยความร่วมมือกันในทุกระดับและทุกองค์กร เพื่อให้สามารถไปสู่ความยั่งยืนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ชไนเดอร์ อิเล็คทริค จึงได้ทำการสำรวจเป้าหมายด้านความยั่งยืนโดยได้มีการพูดคุยกับผู้นำองค์กรจำนวน 4,500 ราย ใน 9 ประเทศ และ 500 องค์กร ในประเทศไทย เพื่อรวบรวมมุมมองของผู้นำธุรกิจในภูมิภาคเอเชียเกี่ยวกับความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม โดยได้มีการดำเนินการสำรวจร่วมกับ Milieu Insight ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์และวิจัยข้อมูล ด้วยการให้ผู้บริหารระดับกลางถึงระดับสูงในภาคเอกชนเข้าร่วมการสำรวจตอบคำถาม 30 ข้อ เกี่ยวกับความยั่งยืน รวมถึงผลกระทบต่อธุรกิจของตนในประเทศต่างๆ ได้แก่ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน เวียดนาม และประเทศไทย
นายมงคล เผยว่า "จากการสำรวจกลุ่มองค์กรในประเทศไทย พบว่ามีข้อมูลและตัวเลขที่น่าสนใจ โดยเกือบทุกบริษัทหรือมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ตระหนักดีว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของความยั่งยืน รวมถึงหลายองค์กรให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของแผนความยั่งยืน"
นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่ออุปทานหรืออุปสงค์ด้านพลังงาน ถึง 44เปอร์เซ็นต์ และความสามารถในการฟื้นตัว จำนวน 41 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการเบื้องต้นหรือเทคโนโลยีที่บริษัทต่างๆ ใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านพลังงาน ได้แก่ มาตรการด้านพลังงานและประสิทธิภาพของทรัพยากร จำนวน 51 เปอร์เซ็นต์และพลังงานหมุนเวียนในโรงงาน และการแปลงระบบและการดำเนินงานให้เป็นดิจิทัล ถึง 43 เปอร์เซ็นต์
หลายองค์กรมองว่า ความยั่งยืนสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ถึง 44 เปอร์เซ็นต์ ช่วยสร้างนวัตกรรมและความสามารถในการแข่งขัน ถึง 42 เปอร์เซ็นต์ และช่วยลดต้นทุน ช่วยให้ประหยัด และผลประโยชน์ทางการเงิน ถึง 38 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศไทย จำนวนถึง 98 เปอร์เซ็นต์ เผยว่าบริษัทมีแผนและมีเป้าหมายด้านความยั่งยืน ขณะที่มีเพียง 53 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ที่ได้นำกลยุทธ์ความยั่งยืนที่ครอบคลุมไปปรับใช้อย่างชัดเจน ทำให้เกิด ช่องว่างสีเขียว หรือ Green Gap ที่ยังไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติ ถึง 45 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว
ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ตอกย้ำและมุ่งมั่นนำเสนอนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนด้านความยั่งยืน และได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เสริมพอร์ตโฟลิโอด้านซอฟต์แวร์ นอกเหนือจาก EcoStruxure เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งและประสิทธิภาพที่จะนำลูกค้าไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างครบวงจรยิ่งขึ้น อาทิ AVEVA, IGE+XAO และ ETAP สำหรับลูกค้าที่ใช้ระบบไฟฟ้าเป็นหลัก และซอฟต์แวร์ RIB, Planon สำหรับอาคาร เป็นต้น เพื่อมอบประสบการณ์ที่ครบวงจรให้กับลูกค้าในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการเดินทางไปสู่ความยั่งยืน
นายมงคลกล่าวว่า "ชไนเดอร์ อิเล็คทริค มีทิศทางที่ชัดเจน พร้อมเป็นเทคคอมพานี (Tech Company) นำเสนอโซลูชั่นและซอฟต์แวร์ตอบโจทย์ให้กับภาคธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม ตั้งแต่การเริ่มต้นในการวางแผน การสร้าง ไปจนถึงกระบวนการดำเนินงานอย่างไรให้ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังได้มีการลงทุนกับเทคโนโลยี AI และแมชชีนเลิร์นนิ่ง มาช่วยลูกค้าในการให้คำปรึกษาเพื่อนำเสนอบริการด้านพลังงานและความยั่งยืน ที่ให้มุมมองเชิงลึกและการวิเคราะห์ในส่วนของพอร์ตด้านพลังงานและความยั่งยืนของบริษัท"
ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ในประเทศไทย เป็นองค์กรที่มุ่งมั่นในการถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนอย่างจริงจัง โดยในปี 2565 ยังได้ริเริ่มโครงการ Green Heroes for life เป็นโครงการด้านความยั่งยืน มีเป้าหมายเพื่อช่วยผลักดันชุมชนของพลเมือง ธุรกิจ และสถาบันที่มีความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ให้มีกิจกรรมร่วมกัน
โดยล่าสุด ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ได้ออกแคมเปญ Impact Maker ที่มุ่งสนับสนุนให้องค์กรต่างๆ ร่วมและลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงและสร้างโลกที่ยั่งยืนขึ้น ผลักดันเป้าหมายที่ตั้งไว้ ด้วยการดำเนินการปฏิบัติ ลด Green Gap ที่ยังคงมีอยู่ เพราะเรื่องความยั่งยืน เราไม่สามารถสร้างได้โดยเพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย และต้องนำเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วจริง นำมาปรับใช้และช่วยสร้างความยั่งยืน
ที่มา: APPR Media