นายแพทย์วิรุฬห์ มาวิจักขณ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ และผู้อำนวยการสถาบันโรคไตและเปลี่ยนไตพระรามเก้า กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไตเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี และก็เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตลำดับต้นๆ ทางโรงพยาบาลพระรามเก้าจึงได้จัดกิจกรรม "วันไตโลก" ขึ้น เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลรักษาไตของตัวเอง ซึ่งภายในงานได้มีการจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับสาเหตุของโรคไต แนวทางการดูแลการรักษา และด้านโภชนาการและการใช้ยา รวมถึงจัดแพ็กเกจโปรแกรมตรวจสุขภาพวันไตโลก อีกด้วย
ทั้งนี้ พญ.ชโลธร แต้ศิลปสาธิต อายุรแพทย์โรคไต สถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า อธิบายถึงการทำงานของไตว่า ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจการทำงานของไตทั้งสองข้างของเราก่อน ซึ่งไตจะทำหน้าที่กรองน้ำ กรองของเสียที่ไม่มีประโยชน์ขับผ่านทางปัสสาวะ นอกจากนี้ไตยังทำหน้าที่รักษาสมดุลน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย รวมถึงการควบคุมความเป็นกรดและด่างในเลือด แต่เมื่อไตทำงานที่ผิดปกติของเสียเหล่านี้ก็จะวนเวียนอยู่ในร่างกาย ขณะเดียวกันไตทั้งสองข้างของเรายังสร้างฮอร์โมนเกี่ยวกับการสร้างเม็ดเลือดแดงเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอีกด้วย
สำหรับโรคไต หรือที่เราได้ยินกันว่า "ไตเสื่อมเรื้อรัง" คือ การที่ไตทำงานลดลง หรือทำงานผิดปกติ โดยข้อมูลจากต่างประเทศและในประเทศไทย เราพบว่ามูลเหตุจากการเกิดโรคคล้ายๆ กัน ก็คือ ส่วนใหญ่จะมาจากโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม เช่น ทานยาไม่ต่อเนื่อง ไม่ได้คุมเบาหวาน หรือความดันให้อยู่ในระดับที่ปกติ รองลงมาเป็นโรคทางเดินปัสสาวะอุดตันที่มาจากนิ่ว และเนื้องอกในบางราย หรือมีโรคบางอย่างส่งผลให้เกิดไตอักเสบ โรคไตเรื้อรัง แบ่งเป็น 5 ระยะ โดยเราแบ่งตามระดับของอัตราการกรองของไต ดังนี้
ระยะที่ 1 ค่า eGFR หรือ อัตราการกรองของไตมากกว่า 90% ถือว่าปกติถ้าหากไม่ได้มีภาวะอย่างอื่นร่วมด้วยถือว่าปกติ แต่ถ้ามีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ หรือมีเกลือแร่มากกว่าผิดปกติ เราก็ถือว่าเป็นโรคไตระยะที่ 1 แล้ว
- ระยะที่ 2 ค่า eGFR เฉลี่ยอยู่ที่ 60-89% ถือว่าอัตราการกรองของไตลดลงเล็กน้อย
- ระยะที่ 3 ค่า eGFR เฉลี่ยอยู่ที่ 30-59% ถือว่าอัตราการกรองของไตลดลงปานกลาง
- ระยะที่ 4 ค่า eGFR เฉลี่ยอยู่ที่ 15-29% ถือว่าอัตราการกรองของไตลดลงมาก
- ระยะที่ 5 ค่า eGFR น้อยกว่า 15% ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งถือเป็นระยะสุดท้ายที่ต้องบำบัดทางไตด้วยวิธีต่างๆ
ทั้งนี้สัญญาณที่เกี่ยวกับโรคไตในระยะที่ 1 และ 2 นั่นส่วนใหญ่จะไม่มีอาการอะไรเลย ซึ่งไตเสื่อมเรื้อรังจะมาแสดงอาการตอนระยะที่ 3 ตอนปลายแล้ว คนไข้จะเริ่มสังเกตตัวเองเช่น ปัสสาวะเป็นฟอง ปัสสาวะตอนกลางคืนมากเกินไป หรือ ปัสสาวะน้อยลงมาก
ในขณะที่คนไข้บางคน มีอาการหนังตาบวม ขาบวม ร่วมด้วย หรือคนไข้ไตวายเรื้อรังระยะที่ 4 ในบางรายก็อาจจะทานข้าวได้น้อย เพลีย คลื่นไส้อาเจียน หากเป็นเยอะก็อาจจะมีการซึมลง คันตามตัว และในบางรายก็มีอาการชักร่วมด้วยหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
สำหรับการรักษาโรคไตวายเรื้อรังมี 3 วิธี ได้แก่
- การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) เป็นการนำเลือดของผู้ป่วยซึ่งมีของเสียคั่งค้าง ผ่านเข้าไปในเครื่องกรองเลือด ซึ่งจะกรองของเสียจากเลือดและนำเลือดที่ถูกกรองจนสะอาดแล้วกลับสู่ร่างกายผู้ป่วย
- วิธีล้างช่องท้องด้วยน้ำยา (CAPD) วิธีนี้ผู้ป่วยจะต้องใส่น้ำยาเข้าไปในช่องท้องตนเอง ครั้งละ 2 ลิตร วันละ 4 ครั้ง ครั้งละ 6 ชั่วโมง หรือทำกลางคืนตลอดทั้งคืนทุกๆ วัน
- การเปลี่ยนไต หรือ ปลูกถ่ายไต (Kidney Transplantation) เป็นวิธีการรักษาโรคไตวายเรื้อรังที่ดีที่สุด
พญ.ชโลธร กล่าวอีกว่า ที่โรงพยาบาลพระรามเก้าเรามีระบบน้ำบริสุทธิ์ที่ช่วยฟอกไต ข้อดีคือจะกำจัดของเสียได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเราก็ยังคงสนับสนุนให้มีการปลูกถ่ายไต เพราะจากสถิติระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา การปลูกถ่ายไตทำให้คนไข้มีโอกาสรอดชีวิตสูงกว่าคนไข้ที่ฟอกทางเลือด หรือ ฟอกหน้าท้อง ที่สำคัญคนไข้เหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเพราะไม่ต้องเสียเวลามาฟอกไต 3 ครั้งต่อสัปดาห์นั่นเอง สำหรับการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคไตเรื้อรังนั้น สิ่งแรกคือ ไม่ควรทานอาหารเค็มเกลือแกงไม่ควรเกิน 1 ช้อนชา หรือน้ำปลาหรือซอสไม่เกิน 2 ช้อนโต๊ะต่อวัน หลีกเลี่ยงการกินยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาชุด ยาลูกกลอน อาจจะทำให้ไตเสื่อม หมอจึงอยากให้ระวังเรื่องการใช้ยาพวกนี้ ส่วนผู้ป่วยเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูงก็ควรได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี
"โรคไตเป็นโรคใกล้ตัวกว่าที่ทุกคนคิด มีคนไข้เสียชีวิตจากโรคหัวใจ และเส้นเลือดตีบแตกเป็นจำนวนมาก ซึ่งมากกว่าการเสียชีวิตจากโรคไตเรื้อรัง ซึ่งถ้าเป็นโรคไตเสื่อมในระยะที่ 1-3 เป็นระยะที่ไม่ได้แสดงอาการ แต่ถ้าเป็นระยะที่ 4-5 แล้วอาการก็จะเริ่มชัด ฉะนั้นหมอจึงอยากแนะนำว่าใครอายุเกิน 30 ปีขึ้นไป หรือคนที่มีความเสี่ยงเบาหวานครอบครัว หรือโรคประจำตัวบางอย่าง ควรตรวจคัดกรองโรคไตเป็นประจำทุกปี ซึ่งการ ตรวจนั้นจะเป็นการเจาะเลือดตรวจ หรือตรวจปัสสาวะก็พอจะบอกคร่าวๆ ได้ว่ามีความเสี่ยงจะเป็นโรคไตเรื้อรังหรือไม่ ซึ่งถ้าเจอโรคเร็วรักษาและรักษาที่ต้นเหตุ ก็จะช่วยชะลอความเสี่ยงได้" นายแพทย์วิรุฬห์ มาวิจักขณ์ กล่าวทิ้งท้าย
ท่านสามารถศึกษารายละเอียดและบริการต่างๆ เพิ่มเติมได้ https://www.praram9.com/departments/kidney-institute/ หรือรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง สถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า โทร. 1270 หรือ www.praram9.com / Line: lin.ee/vR9xrQs หรือ @praram9hospital และทาง Facebook: Praram9 Hospital โรงพยาบาลพระรามเก้า HEALTHCARE YOU CAN TRUST เรื่องสุขภาพ…ไว้ใจเรา #Praram9Hospital
ที่มา: FourHundred