ตลาดหุ้นไทยต้องติดตามความเสี่ยง จากผลการประชุม 3 ธนาคารกลางสำคัญของโลก

จันทร์ ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๗ ๑๕:๒๙
นักวิเคราะห์ KTX มองตลาดหุ้นไทยยังได้อานิสงค์เชิงบวกจากหลายปัจจัย แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงจากผลการประชุม 3 ธนาคารกลางสำคัญของโลกในสัปดาห์นี้
ตลาดหุ้นไทยต้องติดตามความเสี่ยง จากผลการประชุม 3 ธนาคารกลางสำคัญของโลก

นายณัฐวุฒิ จันทนะจุลพงศ์ นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด หรือ KTX กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยยังคงได้รับอานิสงค์เชิงบวกจาก การคลายความกังวลเศรษฐกิจชะลอตัวของไทย จากแนวโน้มการเร่งรัดเบิกจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่มีความชัดเจนมากขึ้น ผลบวกจากตลาดหุ้นจีนซื้อ-ขายในระดับ PER ที่สูงขึ้น หนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัวหลังรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้น และกระแสการไหลกลับของเงินทุนต่างชาติ ตามการแข็งค่าของสกุลเงินเยน หลังตัวเลขเศรษฐกิจของญี่ปุ่นฟื้นตัว

ปัจจัยเหล่านี้ เรามองว่านักลงทุนไม่มีความจำเป็นที่ต้องเรียกรับส่วนชดเชยความเสี่ยงสูงกว่าปกติถึง 2 S.D. ดังเช่นช่วงที่ผ่านมา แนะนำให้ปรับกลยุทธ์ลงทุนโดยการลดระดับ MRP ลง มีนัยถึง ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มกลับมาซื้อ-ขายในระดับ PE ที่สูงขึ้น (Re-rate) หนุนดัชนี แนะนำลงทุนในหุ้นที่ได้อานิสงส์เชิงบวกจากเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ และ การลงทุนภาครัฐ อาทิ กลุ่มก่อสร้าง, กลุ่มวัสดุก่อสร้าง, กลุ่มขนส่งทางอากาศและทางราง และ กลุ่มค้าปลีก

อย่างไรก็ตาม SET INDEX สัปดาห์นี้อาจเผชิญความผันผวนมากกว่าปกติ เนื่องจากการประชุมของธนาคารกลางสำคัญ ทั้ง FOMC BoE และ BoJ มีแนวโน้มจะเป็นไปในทิศทางที่เข้มงวดมากขึ้น หลังตัวเลขเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อเริ่มฟื้นกลับ โดยคาด FOMC มีโอกาสปรับมุมมอง DOTPLOT ลงมาเหลือแค่ 1 ครั้ง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบัน ยังไม่สามารถกดดันเงินเฟ้ออุปสงค์ได้ดีพอที่จะทำให้เฟดตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลง คาด BoE คงดอกเบี้ยในระดับสูงสุดต่อเนื่อง หลังเศรษฐกิจอังกฤษเริ่มฟื้นหนุนเงินเฟ้อ และจะไม่มีการส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยใน 1H24

ด้าน BoJ มีแนวโน้มยกเลิกนโยบายทางการเงินผ่อนคลายพิเศษ (Ultra easing) หลังเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว จากการศึกษาการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ (USD) ซึ่งมีความสัมพันธ์กับค่าเงินเยนต่อ USD หากเงินเยนแข็งค่าเทียบกับ USD หลัง BoJ ยกเลิกนโยบายทางการเงินผ่อนคลายพิเศษ เงินบาทต่อ USD ก็มีโอกาสแข็งค่ากว่าดัชนีค่าเงินดอลลาร์ ทำให้อัตราส่วนดัชนีค่าเงินดอลลาร์ ต่อ ค่าเงินบาทต่อ USD มีแนวโน้มพุ่งขึ้น เป็นนัยว่าตลาดหุ้นไทยอาจได้อานิสงส์เชิงบวกจากการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ

ทั้งนี้ SET INDEX ล่าสุด (15 มี.ค.) อยู่ที่ 1,386 จุด (MRP 4.36%) อยู่ในกรอบ "เก็งกำไร" ระหว่าง 1,377-1,418 จุด (MRP 4.40%-4.20%, (+1 S.D., ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 90 วัน) แนะนำ "ลดน้ำหนักการซื้อลง โดยใช้เงินเพียงบางส่วนเพื่อเก็งกำไรเท่านั้น" โดยมีเป้าหมายในการเริ่มทยอยขายเมื่อดัชนีสูงกว่า 1,418 จุด (MRP ต่ำกว่า ค่าเฉลี่ย 90 วันเคลื่อนที่ ที่ 4.20%) หรือปรับพอร์ตการลงทุนไปยังสินทรัพย์ทางเลือกเช่น Structured Note หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ตอบโจทย์การลงทุนในภาวะเงินเฟ้อปรับตัวสูง การลงทุนใน KIKO หรือหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงระยะสั้นที่อ้างอิงสินทรัพย์คุณภาพ ทำให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสม่ำเสมอเป็นรายเดือน ในอัตราที่สูงกว่าหุ้นกู้ทั่วไป สามารถตอบโจทย์ได้ดีในภาวะที่ตลาดหุ้น Sideway หรือราคาหุ้นเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ

ที่มา: บลจ.กรุงไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ