นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยตั้งเป้าหมายจะเป็น Hubที่ ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายการผลิตยานยนต์ไม่ปล่อยมลพิษร้อยละ 30 ภายใน 5 ปี ตามที่รัฐบาลต้องการ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนนโยบาย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ อว. For EV ในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยพะเยา ตอบรับแผนงาน EV-Transformation ซึ่ง สวทช. เป็นแกนหลักร่วมกับ สกว. และ สอวช. พร้อมหน่วยงานพันธมิตร เป็นผู้ดูแลหลักภายใต้นโยบาย อว. For EV อย่างเป็นรูปธรรม โดยปรับเปลี่ยนรถบัสจากระบบ NGV ในมหาวิทยาลัย มาเป็นรถบัสระบบ EV ซึ่งถือเป็นหน่วยงานแรกในจังหวัดพะเยา ที่นำนวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้ามาให้บริการแบบ 100 % และได้ทำการทดสอบวิ่งภายในมหาวิทยาลัยพะเยาเป็นครั้งที่ 2 แล้ว เพื่อทดสอบแรงดันไฟฟ้าที่เหมาะสมกับการใช้งาน ทั้งนี้มีแผนงานที่จะนำรถ EV มาใช้งานในช่วงเทอมที่ 1 ปีการศึกษา 2567 ที่ถึงนี้ ซึ่งเป็นไปตามแผนการงานโดยจะมีรถบัสทั้งหมด 30 คัน คาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละ 3,000 ตัน เป็นรถบัสขนาดมาตรฐาน หนึ่งคันสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้ 22 ที่นั่ง ภายในรถเป็นรถปรับอากาศ และมีระบบความปลอดภัยครบถ้วน มีระบบกล้องวงจรปิดทั้งคัน (ภายในและภายนอก) มีระบบประตูอัตโนมัติ2 ประตู สำหรับเข้า-ออก มีสิ่งอำนวยความสะดวกคือจุดชาร์จแบตเตอรี่สำหรับโทรศัพท์มือถือให้ผู้โดยสาร และที่สำคัญมีพื้นที่รองรับสำหรับผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ด้วย เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงการใช้บริการอย่างเท่าเทียม
หลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนนโยบาย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ อว. For EV รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้ตรวจเยี่ยมการดำเนินการ อว.For EV ของมหาวิทยาลัยพะเยาที่เปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด พร้อมกับนำผู้บริหาร อว. และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดนั่งยานยนต์ไฟฟ้าชมภูมิทัศน์ของมหาวิทยาลัยพะเยา
ศาสตราจารย์พิเศษอรรถพล ใหญ่สว่าง นายกสภามหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวต้อนรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะ ในโอกาสลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของ อว. ในพื้นที่จังหวัดพะเยา ครั้งนี้ว่า มหาวิทยาลัยพะเยา มีปณิธาน "ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน"จัดการเรียนการสอนครบทุกศาสตร์ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปัจจุบันก้าวสู่ปีที่ 14 ภายใต้การเป็นมหาวิทยาลัยเชิงพื้นที่ มีโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยพะเยาและโรงพยาบาลทันตกรรม เพื่อให้บริการทางการแพทย์ ด้านสุขภาพและสาธารณสุขที่ทันสมัย ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชนและสังคม การที่ท่านรัฐมนตรีและคณะได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของ อว. ในพื้นที่จังหวัดพะเยาและของมหาวิทยาลัยพะเยา ในครั้งนี้ จึงเปรียบเสมือนเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยและภาคีเครือข่าย ที่มีการนำองค์ความรู้ไปแก้ไขปัญหาและสร้างผลกระทบเชิงบวกในด้านต่าง ๆ ให้กับชุมชนในพื้นที่ จนสามารถแก้ปัญหาของพื้นที่ได้ในหลากหลายมิติ ทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน เกิดการสร้างรายได้และลดรายจ่ายในครัวเรือน รวมทั้งการยกระดับขีดความสามารถในด้านเกษตรกรรมของจังหวัดพะเยาต่อไป
จากนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา ได้แนะนำผู้บริหารและแนะนำมหาวิทยาลัยพะเยา โดยผู้บริหารมหาวิทยาลัยพะเยาได้รายงานผลการดำเนินงานตามนโนบาย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ดังนี้
- รายงานการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยพะเยา และโครงการ 1 คณะ 1 ชุมชนนวัตกรรม มหาวิทยาลัยพะเยา โดย ศาสตราจารย์ ดร.เสมอ ถาน้อย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม
- รายงานการขับเคลื่อนพื้นที่สามเหลี่ยมนวัตกรรมเกษตรปลอดภัยสู่เกษตรแปรรูปมูลค่าสูง High Value Extract - Functional Food - Cosmetics Innovation ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันธิวัฒน์ พิทักษ์พล ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี
- รายงานการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบาย อว. For EV ของมหาวิทยาลัยพะเยา โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพงศ์ ดำรงวิริยะนุภาพ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
ที่มา: มหาวิทยาลัยพะเยา