รวมทั้งจัดแปลงสาธิตหรือแปลงเรียนรู้เพื่อถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการเกษตรให้แก่เกษตรกรในพื้นที่อย่างเป็นระบบ ล่าสุดกรมส่งเสริมการเกษตรได้นำปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-1 (PGPR : Plant Growth Promoting Rhizobacteria) ของกรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นแบคทีเรียกลุ่มใหญ่ที่นิยมมาใช้ในการผลิตปุ๋ยชีวภาพ แบคทีเรียกลุ่มนี้สามารถตรึงไนโตรเจน ผลิตสารคล้ายฮอร์โมนพืช ละลายฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม และผลิตสารที่ช่วยละลายธาตุเหล็กเข้าสู่เซลล์ของพืช โดยนำมาทดสอบยังแปลงเรียนรู้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ราว 40 จังหวัด เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 3 รอบฤดูกาลเพาะปลูก คือตั้งแต่ปี 2564 - 2566 ภายใต้ระบบการจัดการดิน น้ำ ปุ๋ย และระบบการเพาะปลูกที่เหมาะสม โดยพบว่า ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-1 มีประโยชน์ในการช่วยให้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีจำนวนรากมากขึ้นทำให้สามารถยึดเกาะดินได้ดี รากแข็งแรง สามารถหาอาหารได้ดี จึงส่งผลให้ต้นข้าวโพดที่ใช้ปุ๋ยมีการเจริญเติบโตได้ดีกว่าต้นข้าวโพดที่ไม่ได้ใช้ปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-1 ทำให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 14 หรือประมาณ 150 กิโลกรัมต่อไร่ ด้วยวิธีการนำปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-1 อัตรา 0.5 กิโลกรัมผสมน้ำให้ข้นและคลุกเคล้ากับเมล็ดพันธุ์สำหรับเพาะปลูก 1 ไร่ หรือคลุกเคล้าปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-1 อัตรา 0.5 กิโลกรัมเข้ากับปุ๋ยแต่งหน้าปริมาณสำหรับใส่ในแปลงที่เพาะปลูกแล้ว 1 ไร่
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรมีแผนที่จะขยายผลการทดสอบดังกล่าวไปยังกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สนใจ เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตของตนเองได้อย่างเป็นรูปธรรม สำหรับปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-1 ปริมาณ 0.5 กิโลกรัม จำหน่ายราคาถุงละ 60 บาท (ราคา ณ วันที่ 24 มกราคม 2567) ในขณะที่ราคาจำหน่ายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อยู่ที่ประมาณ 9 บาทต่อกิโลกรัม (ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ณ วันที่ 17 มีนาคม 2567) หากคำนวณต้นทุนค่าปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-1 ปริมาณ 0.5 กิโลกรัม ใช้ได้ 1 ไร่ ราคาถุงละ 60 บาท ช่วยเพิ่มผลผลิตประมาณ 150 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งขายได้กิโลกรัมละ 8 - 9 บาท เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประมาณไร่ละ 1,200 - 1,300 บาท จากการลงทุน 60 บาท ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์-1 ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดิน กรมวิชาการเกษตร หมายเลขโทรศัพท์ 02-5797522-23 หรือติดต่อผ่านสำนักงานเกษตรอำเภอ ใกล้บ้าน
ที่มา: กรมส่งเสริมการเกษตร