ทั้งนี้ สจส.ในฐานะเลขาศูนย์ความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร (ศปถ.กทม) ได้ดำเนินการ ดังนี้ (1) จัดทำแผนป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ (2) จัดทำสื่อรณรงค์ให้สำนักงานเขตใช้สื่อสารประชาสัมพันธ์ในพื้นที่และเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ (3) ตรวจสอบและแก้ไข เตรียมความพร้อมป้ายเครื่องหมาย สัญญาณไฟจราจร ศาลาที่พักผู้โดยสาร ท่าเรือ กล้อง CCTV ให้พร้อมใช้งาน และประสานสำนักการโยธา กทม.ดูแลไฟแสงสว่างบนถนนให้พร้อม (4) จัดให้มีจุดบริการประชาชนในเส้นทางขาออกจากกรุงเทพฯ ร่วมกับสำนักงานเขตในพื้นที่ ส่วน ศปถ.เขต ทั้ง 50 เขต ได้บูรณาการร่วมกับสถานีตำรวจนครบาลท้องที่ตรวจสอบร้านค้า สถานประกอบการที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (5) จัดตั้งศูนย์ฯ ประสานงานที่ สจส.พร้อมเตรียมหน่วย BEST สนับสนุนภารกิจเร่งด่วน และ (6) เป็นผู้แทนร่วมประชุมติดตามและรายงานกับศูนย์ความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ตลอดช่วงสงกรานต์
นอกจากนั้น สจส.ยังได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานต่าง ๆ ถอดบทเรียนการเกิดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเก็บข้อมูลอุบัติเหตุมาวิเคราะห์หาสาเหตุ โดยเฉพาะกรณีที่มีการเสียชีวิต เพื่อนำไปแก้ไขปรับปรุงทั้งด้านกายภาพ ถนน อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยจราจร และด้านการปรับปรุงพฤติกรรมผู้ขับขี่ แล้วนำเข้ารายงานในที่ประชุม ศปถ. ปภ. และคณะกรรมการ ศปถ.กทม. รวมทั้งประสานสำนักอนามัย กทม.เพื่อวางแผนการป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และติดตามประเมินผลการแก้ไขปัญหาเตรียมความพร้อมเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 นำเสนอต่อคณะกรรมการ ศปถ.กทม. ต่อไป
ที่มา: กรุงเทพมหานคร