การเคหะแห่งชาติตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมตามนโยบายของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงมีนโยบายสนับสนุน ส่งเสริม รวมถึงสร้างจิตสำนึกให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนรู้จักการคัดแยกขยะเพื่อลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยให้ความรู้ตั้งแต่การคัดแยกขยะแต่ละประเภทจากต้นทางภายในบ้านพักอาศัย ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ขยะอินทรีย์หรือขยะย่อยสลายได้ ขยะรีไซเคิล ขยะทั่วไป และขยะอันตราย เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนตระหนักในการคัดแยกขยะมูลฝอยและมีการนำกลับมาใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยใช้หลักการ 3R (Reduce Reuse and Recycle) รวมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์และกระตุ้นให้ผู้อยู่อาศัยช่วยกันลดและคัดแยกขยะ ตลอดจนเสริมสร้างความรู้และสร้างจิตสำนึกที่ดีในการคัดแยกขยะมูลฝอย ทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับครอบครัวอีกทางหนึ่ง
"การเคหะแห่งชาติมีชุมชนที่ประสบความสำเร็จในด้านการบริหารจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรมหลายชุมชน ได้แก่ โครงการจังหวัดระยอง (วังหว้า) ชุมชนแนวราบที่เป็นชุมชนต้นแบบของการบริหารจัดการขยะตามแนวทาง Zero-Waste และโครงการบางโฉลง (นิติ 1) ที่เป็นต้นแบบในเรื่องการบริหารจัดการขยะ สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนขยะลงจากเดิมถึง 37.50% และโครงการบางบัวทอง 2 เป็นอีกหนึ่งโครงการฯ ที่ประสบความสำเร็จเรื่องการบริหารจัดการขยะ ในเรื่องการจัดทำโครงการธนาคารขยะประกันชีวิตเพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่ผู้อยู่อาศัยที่เป็นสมาชิกอีกด้วย"
นางสาวลัดดา แซ่นิ้ม อายุ 61 ปี ประธานนิติบุคคลอาคารชุดบ้านเอื้ออาทรบางบัวทอง 2 กล่าวว่า จังหวัดนนทบุรีได้มีนโยบายให้ทุกชุมชนจัดการและกำจัดมูลฝอยอย่างถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากสำหรับชุมชนเรา เนื่องจากการเคหะแห่งชาติได้มีการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการคัดแยกขยะและการจัดการสภาพแวดล้อมในชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้รวบรวมรายชื่อผู้มีจิตอาสามาเป็นแกนนำในการดำเนินโครงการฯ ภายใต้กลุ่มอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถร.) และยังได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพระปกเกล้ามาให้ความรู้ในการคัดแยกขยะ การจัดการขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง และนำขยะมาขายเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชาวชุมชม
ในช่วงแรกที่เราจัดทำโครงการธนาคารขยะ มีผู้อยู่อาศัยเข้าร่วมเป็นสมาชิก จำนวน 1,700 คน จากนั้นได้จัดตั้งโครงการธนาคารขยะประกันชีวิตขึ้นมา และชักชวนชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงมาเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีสมาชิกมากถึง 6,000 คน และมีเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนสมาชิกเป็น 10,000 คน สำหรับการดำเนินโครงการธนาคารขยะประกันชีวิต สมาชิกจะต้องคัดแยกขยะและนำมาขายให้กับโครงการฯ เช่น กระป๋องเหล็ก กระดาษ ขวดพลาสติก และอื่น ๆ มาขายเดือนละ 1 ครั้ง และจะต้องขายขยะติดต่อกัน 6 เดือน หรือมีรายได้อย่างน้อย 300 บาท สมาชิกจึงจะมีสิทธิได้รับเงินประกันชีวิต หากสมาชิกเสียชีวิตลงก็จะได้เงินสมทบจากสมาชิกคนละ 10 บาท เพื่อมอบให้กับทายาทต่อไป"
โครงการธนาคารขยะประกันชีวิตในโครงการบางบัวทอง 2 นอกจากจะช่วยทำให้ภายในชุมชนมีสภาพแวดล้อมที่ดี สะอาด น่าอยู่ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยให้สมาชิกได้รับสวัสดิการที่ดี และยังเป็นต้นแบบของโครงการธนาคารขยะประกันชีวิตให้ชุมชนอื่นมาศึกษาดูงานอีกด้วย
ที่มา: บมจ.พีเอ็มพี