ขณะเดียวกันได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหาฝุ่น PM2.5 ของสถานพยาบาลสังกัด กทม.โดยจัดห้องปลอดฝุ่น พัดลม และแผ่นกรองอากาศ เพื่อจัดทำพื้นที่ปลอดฝุ่น (Safe Zone) ภายในศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ของโรงพยาบาลสังกัด กทม.ทั้ง 11 แห่ง พร้อมแจกหน้ากากอนามัยและให้คำแนะนำการป้องกันดูแลสุขภาพในช่วงฝุ่นหนาแน่น สำหรับกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานานควรเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นสูง หรือลดระยะเวลาออกนอกอาคารให้น้อยที่สุด หากจำเป็นต้องออกนอกอาคารให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นและงดการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง รวมทั้งปิดประตูหน้าต่างให้สนิท หรืออยู่ในห้องปลอดฝุ่นและสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที หรือพบแพทย์ผ่าน Telemedicine แอปพลิเคชัน "หมอ กทม." เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็ว หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสุขภาพ สนพ.กทม.โทร.1646 ตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนั้น ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีฝุ่น PM2.5 เกิน 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) และเปิดคลินิกมลพิษทางอากาศโรงพยาบาลในสังกัด ดังนี้ โรงพยาบาลกลาง โทร.02 220 8000 โรงพยาบาลตากสิน โทร.02 437 0123 ต่อ 1426, 1430 โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โทร.02 289 7225 โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โทร.02 429 3576 ต่อ 8522 โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โทร.02 543 2090 หรือ 084 215 3278 โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โทร.02 326 9995 โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โทร.099 170 5879 และโรงพยาบาลสิรินธร โทร.02 328 6901 ต่อ 11434 เพื่อให้คำปรึกษาแก่ประชาชนและให้บริการตรวจรักษาลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากฝุ่น PM2.5
ที่มา: กรุงเทพมหานคร