จากประสบการณ์ของ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ได้ระดมสรรพกำลังอาจารย์พยาบาล พยาบาล และบุคลากร 200 ชีวิต อุทิศเพื่อสุขภาวะของปวงชนชาวไทย ผ่าน Call center นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันได้ขยายผลสู่ "สถานีพยาบาล" แหล่งเรียนรู้เรื่องสุขภาวะ พร้อมให้บริการอย่างไร้ขีดจำกัดผ่าน Facebook Live
โดยจะทำให้ต่อไปช่วงพักเที่ยงของทุกวันที่ 2 ของทุกเดือนจะเป็นช่วงเวลาที่มีความหมาย พร้อมจอดป้ายคุยเฟื่องเรื่องสุขภาพ นับตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2567 เวลา 12.30 - 13.00 น.เป็นต้นไป
รองศาสตราจารย์ ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ ได้กล่าวถึงสาเหตุที่ทางทีมผลิตสื่อ "สถานีพยาบาล" เลือกทุกวันที่ 2 ของเดือนเป็นวันแห่งการนัดพบออนไลน์เพื่อเรียนรู้เรื่องสุขภาพร่วมกันทาง Facebook Live ว่า เกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน ที่ทรงส่งเสริมสุขภาวะของปวงชนชาวไทยตลอดเวลาที่ผ่านมา
นอกจากนี้ที่มาของชื่อ "สถานีพยาบาล" ยังชวนให้นึกถึง "ไลฟ์สไตล์" ของ "คนเมืองรุ่นใหม่" ที่นิยมใช้ "รถไฟฟ้า" ซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดรักษ์โลก จึงพร้อมมอบ "หัวใจสีขาวสะอาด" จากมหาวิทยาลัยมหิดล โดย โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และพันธมิตร ผลิตสื่อเพื่อสุขภาพของปวงชนชาวไทยที่รักทุกคนเช่นเดียวกัน
"ด้วยประสบการณ์ที่ยาวนานด้านการผลิตสื่อสุขภาวะของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่เมื่อเอ่ยชื่อแล้วมั่นใจว่าจะได้ "รอยยิ้ม" จากจำนวนผู้ชมที่เฝ้าติดตามกันอย่างล้นหลามผ่าน "Mahidol Channel" และ "Rama Channel" ที่ผ่านมา โดยเชื่อมั่นว่าจะนำพาไปสู่หัวข้อสนทนาเรื่องสุขภาวะที่มีมากมายไม่รู้เบื่อ
"จากการสอดแทรกการสาธิต พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ซักถาม realtime ได้เลยในการไขปัญหาเรื่องสุขภาพทั่วไป ดังตัวอย่างเช่น "การทำแผล" ที่ใครๆ คิดว่าเป็นเรื่องง่าย แต่เมื่อถึงคราวจำเป็นฉุกเฉินอาจทำอะไรไม่ถูก หรือทำโดยขาดความรู้จนเกิดความเสียหายจากการติดเชื้อ" รองศาสตราจารย์ ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ กล่าว
จากความรู้พื้นฐานด้านสุขภาพที่จับต้องได้ ก้าวต่อไป "สถานีพยาบาล" พร้อมขยายผลเพื่อการเข้าถึง "ชุมชน" อย่างแท้จริง ผ่านการวางรากฐานความรู้เรื่องสุขภาพในกลุ่มเป้าหมายที่เป็น "เยาวชน"
โดยจะทำให้ช่วงเวลา "30 นาทีคุณภาพ" หลังมื้อเที่ยงของทุกวันที่ 2 ของเดือน และจะขยายผลการเผยแพร่สู่ช่วงวันอื่นๆ ของเดือนต่อไป เป็น "ช่วงเวลาที่รอคอย"
จากการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ทุกคนในโรงเรียนได้มาอยู่รวมกันหน้าจอทีวี พร้อมเก็บเกี่ยวแต้มสะสมความรู้เรื่องสุขภาพจาก "สถานีพยาบาล" สู่การเป็น "พลเมืองโลกสุขภาวะยั่งยืน" ตามเป้าหมาย SDG3 : Good Health & Well - being และเพื่อนำไปสู่การประเมินผลวิจัยร่วมพัฒนาศักยภาพทางสุขภาวะของเด็กไทย ที่จะเป็นต้นทุนสำคัญของประเทศให้พร้อมมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติอีก 16 ข้อให้ได้ต่อไปในอนาคต
2 เมษายน 2567 เวลา 12.30 - 13.00 น.พบกันที่ Facebook Live : สถานีพยาบาล
และติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล