ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดงาน CRA open House ต้อนรับครู นักเรียน ระดับมัธยมศึกษา และผู้ปกครอง แนะนำหลักสูตรระดับปริญญาตรี

พฤหัส ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๗ ๑๖:๕๐
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดงาน CRA open House ต้อนรับครู นักเรียน ระดับมัธยมศึกษา และผู้ปกครอง แนะนำหลักสูตรระดับปริญญาตรี พร้อมพาเยี่ยมชมสถานที่การเรียนการสอนที่ทันสมัย โชว์ความพร้อมและศักยภาพระดับอินเตอร์
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดงาน CRA open House ต้อนรับครู นักเรียน ระดับมัธยมศึกษา และผู้ปกครอง แนะนำหลักสูตรระดับปริญญาตรี

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดงาน CRA open House โครงการเปิดบ้านแนะแนวการศึกษา โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง คณบดีวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพร เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วิสุทธิ์ ล้ำเลิศธน รักษาการรองคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน รองศาสตราจารย์ ดร.จตุพร กระจายศรี ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ ดร.ปริยากร สุริยศ หัวหน้าฝ่ายกิจการนักศึกษาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้เกียรติร่วมเสวนาเพื่อสร้างความมั่นใจและตอกย้ำศักยภาพความพร้อมของคณาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่จะให้การเรียนการสอนแก่นักศึกษาที่เข้มข้นและใกล้ชิด โดยมีความมุ่งหมายเดียวกัน คือ การสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพออกไปรับใช้สังคม นอกจากนี้ยังมี กิจกรรมเยี่ยมชมบูธและชมนิทรรศการ กิจกรรมเยี่ยมชมสถานที่และห้องการเรียนการสอนของแต่ละหลักสูตรอีกด้วย

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

งาน CRA open House เปิดบ้านราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ต้อนรับครู อาจารย์ สาขาแนะแนวการศึกษาและสาขาอื่น ๆ จากโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา โครงการนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ภาคีเครือข่ายสถานศึกษาระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ร่วมกับสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนพันธกิจของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในด้านการผลิตบัณฑิตการแพทย์ พยาบาลและการสาธารณสุข ที่มีคุณภาพทางวิชาการและสมรรถนะทางวิชาชีพที่เป็นเลิศ ตลอดจนประชาสัมพันธ์หลักสูตรที่ปัจจุบันราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดการเรียนการสอนในสายวิทยาศาสตร์สุขภาพเพื่อเป็นทางเลือกในการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วิสุทธิ์ ล้ำเลิศธน รักษาการรองคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน

การสร้างแพทย์สมัยใหม่ที่มีคุณลักษณะเฉพาะในแบบของ CRA Doctor คือ แพทย์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีจิตอาสา มีทักษะวิชาชีพที่เป็นเลิศ สอดคล้องกับมาตรฐานแพทยสภาและมาตรฐานสากล WFME เป็นแพทย์ที่รู้จักคิดค้นคว้าวิจัย สร้างองค์ความรู้ใหม่และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยและครอบครัวอย่างเป็นองค์รวม โดย หลักสูตรที่เปิดรับ TCAS67 ของ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน มี 2 หลักสูตรที่เปิดรับ คือ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ซึ่งตอนนี้เปิดรับสมัครรอบโควตา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ถึงวันที่ 18 เมษายน 2567 นี้ และ รอบที่ 3 Admission ใช้คะแนนสอบกลาง เปิดรับสมัครตามประกาศของ ทปอ. ช่วงวันที่ 6 -12 พฤษภาคม2567 และ อีกหลักสูตรคือ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาข้อมูลสุขภาพ ซึ่งเป็นหลักสูตรร่วมระหว่างวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นการบูรณาการวิทยาศาสตร์ข้อมูลและวิทยาศาสตร์สุขภาพเข้าด้วยกัน หลักสูตรนี้เหมาะสำหรับนักเรียนที่มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและมีความสามารถทางด้านการใช้คอมพิวเตอร์ ตอนนี้เปิดรับสมัครรอบโควตา นักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยและโรงเรียนดรุณสิขาลัย ถึงวันที่ 21 เมษายน 2567 นี้ และ รอบที่ 3 Admission ใช้คะแนนสอบกลาง เปิดรับสมัครตามประกาศของ ทปอ. ช่วงวันที่ 6 -12 พฤษภาคม 2567 เช่นเดียวกัน

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ

คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ มีเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ที่ใช้ในการเรียนการสอน ในสาขาวิชารังสีเทคนิค สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ โดย โรงเรียนรังสีเทคนิค ผลิตนักรังสีเทคนิค หรือนักรังสีการแพทย์ เพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างภาพทางการแพทย์ซึ่งมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการช่วยแพทย์ตรวจวินิจฉัย และรักษาโรคในผู้ป่วย ในสภาวการณ์ปัจจุบัน นักรังสีการแพทย์เป็นที่ต้องการและถือเป็นวิชาชีพที่มีความขาดแคลนเป็นอย่างมากในประเทศไทย ปัจจุบันหลักสูตรรังสีเทคนิค ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เปิดดำเนินการมาเป็นปีที่ 8 ดำเนินการเรียนการสอนโดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ทั้งรังสีวินิจฉัย รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ นักศึกษามีโอกาสได้เรียนภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติกับเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ได้แก่ เครื่องเอกซเรย์ เครื่องตรวจอัลตราซาวน์ แมมโมแกรมในระบบดิจิทัล เครื่อง MRI 1.5 เทสลา และเครื่อง MRI ขนาด 3 เทสลา จำนวน 3 เครื่อง และมีเครื่อง MRI แบบพิเศษ คือ MRI Upright และ MRI HIFU นอกจากนี้ในส่วนของเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือ CT ยังมีเทคโนโลยีการสร้างภาพรูปแบบ Spectral Imaging ที่มีความทันสมัย รวมถึง Mobile CT ที่พร้อมให้นักศึกษาของเราไปเรียนรู้และฝึกงาน ส่วนทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ นักศึกษาจะได้มีโอกาส ไปเรียนรู้และฝึกปฏิบัติ ณ ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ ซึ่งมีเครื่องมือที่ทันสมัย ได้แก่ เครื่องถ่ายภาพ Digital PET/CT เครื่องแรกของประเทศไทยจำนวน 2 เครื่อง และเครื่อง PET/MRI เครื่องแรกและเครื่องเดียวของประเทศไทย เครื่อง Cyclotron และ Module สำหรับการผลิตสารเภสัชรังสีต่างๆ และนอกจากนี้ด้านรังสีรักษานักศึกษาจะได้มีโอกาสเรียนรู้เครื่องมือและฝึกปฏิบัติ ณ งานรังสีรักษามะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ที่มีเครื่องมือที่ทันสมัย นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้เพื่อช่วยแพทย์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์ หลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์ ทางหลักสูตรมุ่งเน้นผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความชำนาญ และทักษะด้านฉุกเฉินการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินโดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตนั้นได้รับการผดุงชีวิตรวมทั้งป้องกันการเสียชีวิตหรือการรุนแรงขึ้นของการบาดเจ็บหรืออาการป่วยนั้นได้อย่างถูกต้อง ในส่วนของการเรียนการสอน นอกเหนือจากเนื้อหาวิชาการ นักศึกษาจะได้ประสบการณ์ฝึกปฏิบัติกับหุ่นจำลอง ได้ฝึกซ้อมการบริบาลผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บนอกโรงพยาบาลเสมือนจริงในศูนย์จำลองสถานการณ์เพื่อการเรียนรู้ รวมทั้งได้ฝึกประสบการณ์จริงในช่วงฝึกภาคสนามที่โรงพยาบาลแหล่งฝึกทั่วประเทศไทย เพื่อพัฒนาทั้งความรู้และทักษะให้มีความพร้อมที่จะดูแลประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายปฏิรูประบบสาธารณสุขของประเทศและยกระดับการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ทางหลักสูตรยังได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในการตอบโต้ภัยพิบัติให้มีมาตรฐานสากล ซึ่งจะมีการสอดแทรกองค์ความรู้และทักษะการบริหารสาธารณภัยให้แก่นักศึกษาทั้งในรูปแบบของกิจกรรมการเรียนการสอน กิจกรรมนอกหลักสูตร และโอกาสในการศึกษาเฉพาะทางต่อต่างประเทศ

โรงเรียนวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ เป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทย ใช้เวลาศึกษา 4 ปี ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ในภาคทฤษฎีประกอบด้วยวิชาหลักที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว เช่น กายวิภาคศาสตร์ ชีวกลศาสตร์ สรีรวิทยาการออกกำลังกาย จิตวิทยา โภชนาการ เป็นต้น ในส่วนการฝึกภาคปฏิบัติจะเริ่มฝึกประสบการณ์ในการทำงานจริงตั้งแต่ชั้นปีที่ 3 ซึ่งต้องฝึกงานทั้งในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สถานออกกำลังกายทั้งภายในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และภายนอก เช่น หน่วยงานภาครัฐและเอกชน สโมสรกีฬา ทั้งเพื่อสุขภาพ และเพื่อนักกีฬาชั้นเลิศ และทีมกีฬาอาชีพ เช่น ทีมฟุตบอล วอลเลย์บอล เป็นต้น นอกจากนี้นักศึกษาต้องมีงานวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมและปฏิบัติงานจิตอาสาเพื่อชุมชนในระหว่างการศึกษาอีกด้วย ทั้งนี้ยังมีเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ ห้องชีวกลศาสตร์ เพื่อการทดสอบการวิเคราะห์ท่าทางการเคลื่อนไหวแบบ 3 มิติ (3D-Dimension Movement Analysis) เป็นการวิเคราะห์ท่าทางโดยมีการติดเครื่องหมายสะท้อนแสงที่ปุ่มกระดูกหรือข้อต่อ และใช้กล้องบันทึกภาพการเคลื่อนไหว จากนั้นใช้โปรแกรมเฉพาะเพื่อวิเคราะห์ตัวแปรทางคิเนเมติกส์และคิเนติกส์ของการเคลื่อนไหว เช่น มุมองศาของข้อต่อ ความเร็วเชิงเส้น เชิงมุมของข้อต่อ และแรงปฏิกิริยาในแนวดิ่งจากพื้น เป็นต้น เพื่อประเมินและวางแผนในพัฒนาการฝึกซ้อมของนักกีฬาให้มีพัฒนาการที่ดีมากยิ่งขึ้น

รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง คณบดีวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี

วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำในระดับชาติ และนานาชาติ มุ่งมั่นผลิตบุคลากรสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ ที่มีคุณภาพมาตรฐานในระดับสากล มีการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยนักศึกษาจะได้เรียนรู้จากคณาจารย์ผู้สอน ที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์เฉพาะสาขา ที่ให้ความดูแลอย่างใกล้ชิด ทางวิทยาลัยฯ มีห้องปฏิการเสมือนจริงเป็นห้องเรียนที่ทันสมัย มีความพร้อมในอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเพื่อให้นักศึกษาที่มาเรียนได้ประโยชน์สูงสุด ภายในอาคารของวิทยาลัยฯ มีห้องสมุดให้ค้นคว้าด้วยตนเอง มีห้อง co-working ที่นักศึกษาใช้พักผ่อน พบปะสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อน และทำกิจกรรมสันทนาการในช่วงเวลาว่างจากการเรียนอีกด้วย

นักศึกษาจะได้มีโอกาสลงปฏิบัติงานในสถานการณ์จริงในหอผู้ป่วยของโรงพยาบาลและในชุมชน ตลอดจนเรียนพื้นฐานการทำวิจัย ค้นคว้าสิ่งใหม่ สร้างสรรค์ผลงานและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เพื่อยกระดับภาพลักษณ์ของพยาบาลรุ่นใหม่ ให้มีศักยภาพและความรู้ความสามารถในมาตรฐานระดับนานาชาติ นอกจากการเรียนที่เข้มข้นแล้ว ยังมีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ต่างๆ ที่น่าสนใจ ให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมตลอดระยะเวลา 4 ปี ส่งเสริมให้มีจรรยาบรรณวิชาชีพ จริยธรรมคุณธรรม และมีจิตอาสา พร้อมทำประโยชน์ให้ผู้อื่น และสังคม การพยาบาลเป็นการปฏิบัติกับชีวิตและสุขภาพมนุษย์ทุกวัย ผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี จะมีความรู้ความสามารถและทักษะของวิชาชีพ มีศิลปะทางการพยาบาล บนพื้นฐานของการดูแลคนด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์และสัมพันธภาพที่เอื้ออาทร คุณธรรมจริยธรรม สร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคม ภายใต้อัตลักษณ์ รอบรู้ พัฒนา จิตอาสา นำพาความสุข ก้าวสู่การเป็นพยาบาลวิชาชีพอย่างภาคภูมิใจ สู่ความเป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต

รองศาสตราจารย์ ดร.จตุพร กระจายศรี ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นหลักสูตรใหม่ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดรับสมัครนักศึกษารุ่นแรก ในปีพุทธศักราช 2567 มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ทักษะ และสมรรถนะทางการวิจัย นวัตกรรม ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยมีเป้าหมายให้บัณฑิตสามารถต่อยอดเป็นผู้ช่วยวิจัย หรือนักวิจัยได้อย่างเต็มตัวในอนาคต อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา 1) บุคลากรวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2) นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ในหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชน 3) นวัตกรด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ 4) บุคลากรทางด้านการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ในสถาบันการศึกษา 5) เจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการด้านการแพทย์ เช่น บริษัทยา เวชภัณฑ์ บริษัทเครื่องมือทางการแพทย์ และห้องปฏิบัติการวินิจฉัยทางการแพทย์ ในปีการศึกษา 2567 รับนักศึกษา จำนวน 30 คน แบ่งเป็น 3 รอบ รอบที่ 1 Portfolio จำนวน 5 คน เสร็จสิ้นตามเป้าหมายแล้ว รอบที่ 2 การรับแบบโควตาจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จำนวน 20 คน เปิดรับสมัคร วันที่ 1 - 31 มีนาคม 2567 และ รอบที่ 3 การรับแบบ Admission จำนวน 5 คน ตามประกาศของ ทปอ. รับสมัคร วันที่ 6 - 12 พฤษภาคม 2567

ที่มา: ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ