รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีการป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่า นอกจากหมั่นสำรวจสวนอย่างสม่ำเสมอแล้ว เกษตรกรควรปรับปรุงดิน โดยใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปรับสภาพดินให้มีค่าความเป็นกรดด่างของดินประมาณ 6.5 กรณีดินที่เป็นกรดจัด ให้ใส่ปูนขาวหรือโดโลไมท์ อัตรา 100 - 200 กิโลกรัมต่อไร่ ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาควบคุมการเกิดโรค โดยผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มากับรำข้าวและปุ๋ยคอก สัดส่วน 1:4:100 ในอัตรา 80 - 100 กิโลกรัมต่อไร่ โรยลงดินในพื้นที่รัศมีทรงพุ่ม หรือใช้รองก้นหลุมก่อนปลูกทุเรียน รวมถึงหลีกเลี่ยงการทำให้รากหรือลำต้นเกิดแผล เพราะจะเป็นช่องทางให้เชื้อราสาเหตุโรครากเน่าโคนเน่าเข้าทำลายพืชที่ปลูกได้
สำหรับกรณีที่พบส่วนของใบ ดอก และผลแสดงอาการโรครากเน่าโคนเน่าเพียงเล็กน้อย สามารถตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น เมทาแลกซิล 25% WP หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 30 - 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ทั่วทรงพุ่ม และไม่นำเครื่องมือตัดแต่งที่ใช้กับต้นเป็นโรคไปใช้ต่อกับต้นปกติ โดยต้องทำความสะอาดเครื่องมือก่อนนำไปใช้ใหม่ทุกครั้ง แต่หากพบต้นทุเรียนจำนวนมากเริ่มมีใบสีซีด ไม่เป็นมันเงาหรือใบเหลืองหลุดร่วง ให้ใช้ฟอสโฟนิก แอซิด 40% SL ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ใส่กระบอกฉีดยาฉีดเข้าลำต้น อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อต้น และ/หรือราดดินด้วยฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP หรือ เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 30 - 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หากโรคลุกลามไปบนกิ่งหรือที่โคนต้น ให้ถากหรือขูดผิวเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออก แล้วทาแผลด้วยฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 70 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 40-60 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ทุก 7 วัน จนกว่าแผลจะแห้ง หรือใช้ฟอสโฟนิก แอซิด 40% SL ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ใส่กระบอกฉีดยา ใช้อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อต้น ฉีดเข้าลำต้นหรือกิ่งในบริเวณตรงข้ามอาการโรค หรือส่วนที่เป็นเนื้อไม้ดีใกล้บริเวณที่เป็นโรค ทั้งนี้ หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ตัดแต่งกิ่งเป็นโรค กิ่งแห้ง และตัดขั้วผลที่ค้างอยู่ไปทำลายนอกแปลงปลูกเพื่อลดการสะสมของเชื้อสาเหตุโรคนอกแปลงปลูกแล้วตากดินไว้ระยะหนึ่งจึงปลูกใหม่ทดแทน อย่างไรก็ตาม สามารถขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน
ที่มา: กรมส่งเสริมการเกษตร