ในการนี้ พญ.เพชรดาว เป็นประธานกล่าวต้อนรับคณะผู้แทน พร้อมขอบคุณ สำหรับโครงการความร่วมมือในการพัฒนากำลังคนผ่านการจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็นในประเทศไทย สามารถผลิตวิศวกรที่มีทักษะเพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมในอนาคต อีกทั้งสองฝ่ายยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนนโยบายสำคัญ ได้แก่
- โครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) มุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่เหมาะสม ส่งเสริมการบูรณาการวิจัยและพัฒนาร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย และชุมชน เพื่อนำผลการวิจัยไปต่อยอดสู่การใช้งานจริง และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยมี 6 อุตสาหกรรมมุ่งเป้า ได้แก่ เกษตรสมัยใหม่ พลังงานและเคมีชีวภาพ ระบบอัตโนมัติหุ่นยนต์และระบบอัจฉริยะ แบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงและการขนส่ง การบิน และเครื่องมือแพทย์
- ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) โดยมีสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นผู้ริเริ่ม จัดตั้งเครือข่าย SRI (Science Research and Innovation) Consortium for Net Zero ช่วยแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
และ 3. อว. for EV ประกอบด้วยแผนงาน EV-HRD การพัฒนาทักษะกำลังคนเพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า EV-Transformation การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. และ EV-Innovation การสนับสนุนงบประมาณวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (EV Hub) สร้างอุตสาหกรรมใหม่ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โอกาสนี้ Ms. Mami นำเสนอความร่วมมือในอนาคตระหว่างอาเซียนและประเทศญี่ปุ่นด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยอาเซียนเป็นฐานการผลิตและศูนย์กลางการส่งออกรถยนต์ที่สำคัญของบริษัทเอกชนชั้นนำของญี่ปุ่น จากการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ได้มีการเห็นชอบแผน ASEAN-Japan Co-creation Initiative for the Next-Generation Automotive Industry พร้อมทั้งจัดทำกลยุทธ์ Strategic Master Plan โดยหน่วยงาน Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA) มุ่งเน้น 3 เสาหลัก คือ 1) การก่อตั้ง Asia Zero Emission Center เพื่อสนับสนุนการพัฒนานโยบาย แผนงาน การดำเนินโครงการการลดคาร์บอน 2) การจัดตั้งเครือข่ายและบูรณาการระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะบุคลากร และ 3) การวิเคราะห์แบบสำรวจและเทคโนโลยีที่ช่วยแก้ไขปัญหาสุขภาพ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเพื่อลดคาร์บอนในห่วงโซ่คุณค่าทุกขั้นตอน สร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่นและเชื่อถือได้ สำหรับการผลิตและส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า EV และรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด HEV
นอกจากนี้ในส่วนของ ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. และ Ms. Yumi นั้นได้เคยร่วมหารือเรื่อง End-of-Life Vehicle (ELV) Circular System Project in Thailand ซึ่งเป็นโครงการการจัดการยานยนต์ที่หมดอายุการใช้งาน เพื่อลดปริมาณของเสียจากยานยนต์ มีการบำบัดซากยานยนต์อย่างถูกวิธีและนำชิ้นส่วนยานยนต์กลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ตามสัดส่วนที่กำหนด มุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ทั้งนี้ วว. โดยศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (ศทร.) ให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการอย่างครบวงจรทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ครอบคลุมการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางและยานยนต์ไฟฟ้า ทั้ง BEV และ EV-BUS การทดสอบและรับรองมาตรฐานชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงการรีไซเคิลแบตเตอรี่ เพื่อสนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) Economy Model
ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย