นักวิจัย-นักวิชาการ ผลักดัน "รถไฟ" เป็นระบบโลจิสติกส์เพื่อพาณิชย์ยั่งยืน ถูก-คุ้มค่า ชูจุดเด่นด้าน "คาร์บอนเครดิต"

จันทร์ ๐๑ เมษายน ๒๕๖๗ ๑๓:๑๐
นักวิชาการเผยการศึกษาการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นรักษาคุณภาพผักผลไม้ของมูลนิธิโครงการหลวง ขนส่งด้วยรถไฟจากภาคเหนือลงภาคใต้ เพื่อทดสอบขนส่งผลิตผลการเกษตรระยะไกล พบผลลัพธ์ดีเยี่ยม รักษาผลิตผลให้คุณภาพสมบูรณ์ สดใหม่ จำหน่ายและส่งออกประเทศเพื่อนบ้านได้โดยไม่มีตีกลับ เตรียมต่อยอดสร้างระบบโลจิสติกส์ทางรางให้เกษตรกรและเอกชนในประเทศหันมาใช้ขนส่งทางรางทดแทนการขนส่งทางถนนและอากาศที่ปล่อยมลพิษมากกว่า โดยผลักดันให้ระบบรางเป็นโลจิสติกส์เชิงพาณิชย์สีเขียว เพิ่มโอกาสด้านคาร์บอนเครดิต ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตอบโจทย์นโยบายชาติและทิศทางด้านสิ่งแวดล้อมของโลก
นักวิจัย-นักวิชาการ ผลักดัน รถไฟ เป็นระบบโลจิสติกส์เพื่อพาณิชย์ยั่งยืน ถูก-คุ้มค่า ชูจุดเด่นด้าน คาร์บอนเครดิต

ผศ.ดร.ชาญณรงค์ ภุชงควาริน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทีมวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมในโครงการวิจัยตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นแบบเคลื่อนที่ประสิทธิภาพสูงฯ กล่าวว่ารูปแบบการขนส่งโดยปกติของมูลนิธิโครงการหลวง คือใช้การขนส่งทางอากาศและทางถนนเป็นหลัก ก่อนจะมาทดสอบใช้การขนส่งระยะไกลด้วยรถไฟเป็นครั้งแรกในโครงการวิจัยฯ นี้ โดยการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งมาเป็นระบบราง (รถไฟ) ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มาก สามารถนำการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงมาใช้เป็นคาร์บอนเครดิต ที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปจำหน่ายเป็นรายได้ที่มาช่วยลดต้นทุนได้อีกทาง

ผศ.ดร.ชาญณรงค์ อธิบายเพิ่มเติมว่า "ในกรณีที่ขนส่งสินค้าปริมาณมาก ๆ เป็นระยะทางไกล ๆ การขนส่งทางถนนและอากาศมีอัตราการใช้เชื้อเพลิงต่อน้ำหนักสินค้าค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับการขนส่งทางรถไฟ เช่น ในการขนส่งสินค้าน้ำหนัก 1 ตัน ในระยะทาง 1 กิโลเมตร การขนส่งทางเครื่องบินจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 0.7-0.8 กิโลกรัม การขนส่งด้วยรถบรรทุกสิบล้อแบบมีห้องเย็นจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อยู่ที่ประมาณ 0.36 กิโลกรัม ขณะที่การขนส่งด้วยรถไฟแบบมีตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อยู่ที่ประมาณ 0.06 กิโลกรัมเท่านั้น หากมูลนิธิโครงการหลวง หรือ เกษตรกร ผู้ผลิตรายอื่น ๆ สามารถเปลี่ยนมาใช้ขนส่งทางรถไฟ จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างมาก ซึ่งส่วนต่างจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงนี้ สามารถนำมาประเมินเป็นมูลค่าและนำไปขายในตลาดคาร์บอนเครดิตได้ นอกจากนี้โดยทั่วไปการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการลดการใช้เชื้อเพลิงในการขนส่ง ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการลดต้นทุนในการใช้เชื้อเพลิงเพื่อการขนส่งไปด้วยในตัว ส่งผลให้ต้นทุนในภาพรวมลดลงตามไปด้วย"

ด้าน ผศ.ดร.กานดา บุญโสธรสถิตย์ หัวหน้าศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และหัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า จากการทดสอบใช้ตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นขนส่งผักผลไม้ด้วยรถไฟครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา โดยใช้ระยะเวลาขนส่งรวม 3 วัน พบว่าผลผลิตยังคงความสดใหม่ สามารถส่งขายในภาคใต้ รวมถึงส่งออกประเทศเพื่อนบ้านได้โดยไม่มีการตีกลับสินค้า นับเป็นทิศทางที่ดีในการผลักดันให้เกษตรกรรายอื่น ๆ มาใช้การขนส่งทางราง ขณะที่ในด้านต้นทุน หากขนส่งผักผลไม้เพียงเที่ยวเดียวจากเหนือลงใต้ ต้นทุนในการขนส่งยังไม่ถูกนัก ประมาณ 14 บาท/กิโลกรัม จึงต้องมีการขนส่งเที่ยวกลับ (Backhauling) โดยในการทดลองขนส่งครั้งนี้ มีการนำสินค้าอาหารกระป๋องจากผู้ประกอบการในภาคใต้ ขนส่งกลับขึ้นไปที่ภาคเหนือ ทำให้ต้นทุนในการขนส่งรวมถูกลงมาก โดยต้นทุนจากเดิม 14 บาท/กิโลกรัม ลดเหลือเพียง 4 บาท/กิโลกรัมเท่านั้น

"การวิจัยฯ ชี้ชัดแล้วว่าการขนส่งผลิตผลที่มีความเปราะบาง เช่น ผักผลไม้ ด้วยรถไฟ ที่มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเก็บรักษา ทั้ง ตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็น และการติดเครื่องมือวัดการปล่อยก๊าซของผักและผลไม้ระหว่างขนส่ง รวมถึงวัดความชื้น วัดอุณหภูมิระหว่างขนส่ง ช่วยให้สามารถดีไซน์การขนส่งให้มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับประเภทสินค้าที่ขนส่งได้ แต่อีกอุปสรรคของการขนส่งทางราง คือยังมีความยุ่งยากในกระบวนการขนส่ง ดังนั้นจึงต้องมีตัวกลาง หรือ Consolidator ที่มาทำให้การขนส่งสะดวกและง่ายสำหรับผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยจะทำหน้าที่ประสานการรถไฟ และจัดการระบบขนส่ง ตั้งแต่รับคอนเทนเนอร์จากผู้ขายยกขึ้นรถเพื่อขนไปยังรถไฟ และเมื่อถึงปลายทางก็จะยกลง และส่งต่อไปให้กับลูกค้า ซึ่งการจะสร้างระบบที่มีประสิทธิภาพได้ จะต้องมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น การสร้างแพล็ตฟอร์ม ขณะที่เรื่องต้นทุน หากสามารถสร้างระบบขนส่งไป-กลับ (Backhauling) หาสินค้าจากเหนือลงใต้ได้ปริมาณที่มากพอ และมีสินค้าจากภาคใต้รอขนส่งกลับขึ้นมาที่ภาคเหนือ ก็จะช่วยให้ต้นทุนถูกลงได้มาก" ผศ.ดร. กานดา กล่าว

ขณะที่ด้านคุณภาพผลิตผลการเกษตรหลังการทดลองขนส่งด้วยรถไฟจากภาคเหนือลงมาภาคใต้ ผศ.ดร.ลดาวัลย์ เลิศเลอวงศ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชานวัตกรรมการเกษตรและการจัดการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อธิบายว่า ภาพรวมของการขนส่งผักและผลไม้ หลังจากใช้เวลาในการขนส่ง 3 วัน ยังคงความสดใหม่ สามารถนำมาวางจำหน่ายได้ทั้งในแบบอุณหภูมิห้องและในตู้เย็น โดยผลิตผลที่เหมาะสมในการขนส่งทางรถไฟและให้ความคุ้มค่าด้านต้นทุน คือ กะหล่ำปลีแดง และ ข้าวโพดหวานสองสี

ผศ.ดร.ลดาวัลย์ เสริมว่า "เราแบ่งเป็นผลิตผลออกเป็นกลุ่ม คือ เปราะบาง บอบช้ำง่าย ได้แก่ เบบี้ฮ่องเต้ ผักกาดหอมห่อ กลุ่มนี้มีอายุการเก็บรักษา (Shelf-life) ประมาณ 1-2 วัน ในอุณหภูมิห้อง และประมาณ 3 วัน ในตู้เย็น ขณะที่กลุ่มบอบช้ำปานกลาง อย่าง ผักกาดขาวปลี กับ กะหล่ำปลี มีอายุการเก็บรักษา 4-6 วัน และกลุ่มสุดท้าย ได้แก่ กะหล่ำปลีแดง และข้าวโพดหวานสองสี สามารถเก็บรักษาในตู้เย็นได้ราวสัปดาห์ โดย กะหล่ำปลีแดง และข้าวโพดหวานสองสี นับเป็นผลิตผลที่เหมาะสมในการขนส่ง เนื่องจากราคาต่อหน่วยสูง ทำให้คุ้มค่าในการขนส่ง ทั้งนี้ ทีมวิจัยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในการขนส่ง โดยแนะนำให้มีการบรรจุหีบห่อผลิตผล จะช่วยรักษาสภาพของผลิตผลให้สดใหม่มากยิ่งขึ้น"

สำหรับการผลักดันด้านคาร์บอนเครดิต ผศ.ดร. ชาญณรงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังเป็นแบบภาคสมัครใจ แต่ในอนาคตมีแนวโน้มที่อาจจะมีการผลักดันจริงจังมากขึ้น และอาจมีการบังคับเรื่องภาษีคาร์บอน ก็จะทำให้การซื้อขายคาร์บอนเครดิตมีราคาที่สูงขึ้น องค์กรต่าง ๆ ตื่นตัวมากขึ้น โดยองค์กรที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ก็สามารถนำส่วนต่างไปประเมินราคา แล้วขายเพื่อลดต้นทุนสินค้า ขณะที่องค์กรที่ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณสูง ๆ อยู่ ก็จะต้องจ่ายต้นทุนในส่วนนี้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ประเทศไทยมีเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065

ที่มา: ศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ (Login)

นักวิจัย-นักวิชาการ ผลักดัน รถไฟ เป็นระบบโลจิสติกส์เพื่อพาณิชย์ยั่งยืน ถูก-คุ้มค่า ชูจุดเด่นด้าน คาร์บอนเครดิต

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๑๖:๑๐ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๑๖:๕๒ โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version