นายวิเชฐ ตันติวานิช ประธานกรรมการสถาบันผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (Leadership for Change- LFC) มูลนิธิสัมมาชีพ กล่าวว่า มูลนิธิสัมมาชีพจะเปิดอบรมหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 14 ภายใต้แนวคิด "BCG in Collaboration" : เพิ่มคุณค่าธุรกิจ ช่วยเศรษฐกิจยั่งยืน" ขึ้นในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ เนื่องจาก เห็นว่า BCG Economy ซึ่งเป็นการนำเอาการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ด้านมาเชื่อมโยงกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) หรือการสร้างมูลค่าเพิ่มจากฐานทรัพยากรด้วยนวัตกรรม เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หรือการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่า และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) การคำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นโมเดลการทำธุรกิจที่ตอบโจทย์สถานการณ์ในปัจจุบัน นั่นคือ สามารถสร้างความเติบโต สร้างมูลค่าใหม่ให้ธุรกิจโดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งเป็นเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับฐานทรัพยากรหลักของประเทศ และเกี่ยวข้องกับอาชีพของคนส่วนใหญ่ราว 16.5 ล้านคน จึงช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนและลดความเหลื่อมล้ำอีกด้วย
"โมเดลเศรษฐกิจที่มุ่งสู่การเติบโตของธุรกิจเพียงด้านเดียว ถือเป็นแนวทางที่ไม่ยั่งยืนอีกต่อไป เพราะก่อให้เกิดปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะวิกฤติสิ่งแวดล้อมที่รุนแรง และการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยที่เป็นเศรษฐกิจมีมูลค่าไม่สูง ไม่ตอบโจทย์ความต้องการสินค้าของโลกและการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเราต่ำลงเรื่อยๆ การปรับธุรกิจที่สร้างความยั่งยืนทั้งเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม จึงเป็นแนวทางที่ต้องมุ่งไป ซึ่งแนวทางของ BCG Economy Model จะตอบโจทย์นี้ได้ดี ทางมูลนิธิจึงจัดทำหลักสูตรนี้ เพื่อตอบรับกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว" นายวิเชฐกล่าว
เขากล่าวด้วยว่า องค์ประกอบของหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง มีจุดเด่นในแง่การนำความรู้ด้านเศรษฐกิจ BCG มาผสานกับองค์ความรู้ด้านอื่นๆ คือ แนวคิดด้านสัมมาชีพในการประกอบการ หรือการทำธุรกิจโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม การสร้างความเป็นผู้นำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีสู่สังคม จึงถือเป็นสิ่งที่ช่วยให้มีมุมมองในการทำงาน การทำธุรกิจอย่างรอบด้าน
นอกจากนี้ผู้เข้าอบรมยังจะได้เรียนรู้จากกรณีศึกษาที่หลากหลาย ทั้งจากภาคผู้นำนโยบาย องค์กรเอกชนชั้นนำของประเทศ เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ เอสอี ผู้นำจากชุมชน ที่ประสบความสำเร็จด้วยแนวทาง BCG และได้เชื่อมโยงกับภาคส่วนต่างๆ ที่เข้าร่วมอบรม ทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน ดังนั้นนอกจากจะได้รับความรู้แล้ว ยังจะมีเครือข่ายที่ร่วมมือกันทำงานต่อไป
"หลักสูตรนี้เหมาะทั้งบริษัทที่ต้องการปรับธุรกิจสู่แนวทาง BCG Economy หรือคนรุ่นใหม่ สตาร์ทอัพที่สนใจแนวทาง BCG Economy แม้กระทั่งผู้นำชุมชน ท้องถิ่น ที่จะต้องพัฒนาชุมชนบนแนวทาง BCG
ประการสำคัญ ธุรกิจทั้งหมดจะต้องพบกับแรงกดดันให้เข้าสู่การปฏิบัติตามแนว BCG โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ดังนั้นผู้ที่ยังไม่มีแผน หรือยังไม่ลงมือปฏิบัติ หรือมีแผนแต่ไม่มีพื้นที่ ก็จะมีโอกาสมาร่วมทำงานกับชุมชนไปเลย" นายวิเชฐกล่าว
ทั้งนี้ หลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลงจะมีเนื้อหา 4 ส่วนหลัก คือ องค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจ BCG หลักคิดของสัมมาชีพในการทำงาน ภาวะการเป็นผู้นำที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง และการลงมือปฏิบัติจริงในพื้นที่ชุมชนรวมถึงกิจกรรม BCG Matching โดยผู้เข้าอบรมจะมีทั้งผู้บริหารขององค์กรภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการชุมชน เริ่มเรียนระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน - 14 กรกฎาคม 2567 โดยจะอบรมระหว่างวันเสาร์ และวันอาทิตย์ อัตราค่าลงทะเบียน บุคคลทั่วไป 40,000 บาท องค์กรภาคี สมาชิกเครือข่าย LFC 30,000 บาท
หลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง ดำเนินงานโดยมูลนิธิสัมมาชีพ เพื่อบูรณาการความร่วมมือจากผู้มีความรู้ความสามารถที่หลากหลาย ร่วมสร้างความตระหนักในการเปลี่ยนแนวคิด เปลี่ยนพฤติกรรม และขยายผลสู่ความร่วมมือด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ได้จัดอบรมติดต่อกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 จนถึงปี พ.ศ. 2566 จำนวน 13 รุ่น ปัจจุบันมีผู้ได้รับการอบรมทั้งสิ้นจำนวน 1,408 คน โดยผู้ที่ผ่านการอบรมได้ร่วมกันสร้างเครือข่าย "ชมรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง" (The Society of Leadership for Change) หรือเรียกโดยย่อว่า LFC Club เพื่อผนึกกำลังสนับสนุนการดำเนินงานซึ่งกันและกัน
ผู้สนใจติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณเกียววะลี มีสิทธิ์ ผู้จัดการงานขับเคลื่อนผู้นำ - นำการเปลี่ยนแปลง มูลนิธิสัมมาชีพ โทรศัพท์ 090-262-3653 คุณณัฐณิชา เสมือนโพธิ์ เจ้าหน้าที่งานขับเคลื่อนผู้นำ - นำการเปลี่ยนแปลง มูลนิธิสัมมาชีพ โทรศัพท์ 094-043-0163หรือ E-mail: [email protected]ดูรายละเอียดหลักสูตรเพิ่มเติม https://www.right-livelihoods.com/.../leadership-for.../ผู้ที่สนใจสมัครได้ที่ https://forms.gle/pyZzJj7rw5YwJoPH7
ที่มา: มูลนิธิสัมมาชีพ