นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึง สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษ (Food poisoning) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2566 ประเทศไทยพบผู้ป่วย จำนวน 90,218 ราย ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต สำหรับพื้นที่เขตสุขภาพที่ 12 พบผู้ป่วย จำนวน 2,656 ราย ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต พบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี และสูงสุดในเดือนเมษายน จำนวน 313 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือ 25-34 ปี รองลงมาคือ 15-24 ปี และ 35-44 ปี ตามลำดับ จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ สงขลา 1,392 ราย รองลงมา คือ ตรัง 361 ราย, ปัตตานี 247 ราย, ยะลา 213 ราย, พัทลุง 200 ราย, นราธิวาส 171 ราย และสตูล 72 ราย (ข้อมูล: ระบบรายงานการเฝ้าระวังโรค 506 กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 11 มีนาคม 2567)
โรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนสารเคมี เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และพยาธิ ที่มากับอาหารที่ไม่สะอาด อาหารที่ปรุงไว้นาน รวมถึงอาหารที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ และไม่ได้แช่เย็น หรือนำมาอุ่นให้ทั่วถึงก่อนรับประทาน กอปรกับในช่วงนี้อากาศที่ร้อนขึ้น ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี อาหารบูดเสียได้ง่ายกว่าปกติ สำหรับโรคอาหารเป็นพิษ ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำ ลำไส้อักเสบ และอาจมีไข้ ปวดศีรษะร่วมด้วย ในรายที่มีอาการถ่ายอุจจาระมาก ผู้ป่วยอาจมีภาวะช็อกหมดสติได้ ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ผ่านทางอุจจาระและอาเจียน ส่วนใหญ่มักเกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในกลุ่มคนที่มีการรับประทานอาหารและน้ำร่วมกัน การดูแลเบื้องต้น ควรให้จิบสารละลายเกลือแร่ ORS บ่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
สคร.12 สงขลา ขอแนะนำ ประชาชนยึดหลัก "สุก ร้อน สะอาด" รับประทานอาหารที่ปรุงสุก หลีกเลี่ยงอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ควรกินอาหารขณะที่ยังร้อน ปรุงสุกใหม่ อาหารที่เก็บไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นก่อนรับประทานทุกครั้ง อาหารกล่องควรแยกกับและข้าวออกจากกัน หากมีรูป รส กลิ่น สีผิดปกติไม่ควรบริโภค ควรเลือกรับประทานอาหาร น้ำดื่ม และน้ำแข็งที่สะอาดได้มาตรฐาน เลือกซื้อวัตถุดิบที่สด สะอาด และมีคุณภาพ ควรใช้ช้อนกลางส่วนตัวเมื่อรับประทานร่วมกัน และก่อนหยิบจับอาหารควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง สำหรับผู้ประกอบอาหารต้องปรุงอาหารอย่างถูกสุขลักษณะ เช่น ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ใช้หน้ากากอนามัย ปิดจมูกและปาก สวมหมวกคลุมผม วัตถุดิบ และอุปกรณ์ใส่อาหาร จาน ช้อน ต้องล้างให้สะอาด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคไปสู่อาหาร หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคอาหารเป็นพิษ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
ที่มา: สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา