เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานสำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2567 และ 2566 รายได้จากการดำเนินงานปี 2567 มีจำนวน 3,506.1 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันปี 2566 จำนวน 322.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.4 การลดลงดังกล่าวเป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงจำนวน 28.8 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.2 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยของเงินรับฝาก รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงจำนวน 26.2 ล้านบาท หรือร้อยละ 8 มาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมและบริการ รายได้อื่นลดลงจำนวน 267.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.1 ส่วนใหญ่เป็นผลจากการลดลงของกำไรสุทธิจากเงินลงทุนและกำไรสุทธิจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพ
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวดสามเดือนปี 2567 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2566 เพิ่มขึ้นจำนวน 231.7 ล้านบาทหรือร้อยละ 11.8 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าเผื่อการด้อยค่าของทรัพย์สินรอการขายและค่าภาษีอากร ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ต่อรายได้จากการดำเนินงานงวดสามเดือนปี 2567 อยู่ที่ร้อยละ 62.5 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2566 อยู่ที่ ร้อยละ 51.2
อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin - NIM) สำหรับงวดสามเดือนปี 2567 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 ลดลงจากงวดเดียวกันปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 2.6 เป็นผลจากต้นทุนเงินฝากที่เพิ่มขึ้น
วันที่ 31 มีนาคม 2567 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 248.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) จำนวน 316.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 จากสิ้นปี 2566 ซึ่งมีจำนวน 310.4 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารลดลงเป็นร้อยละ 78.4 จากร้อยละ 78.9 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566
สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ 8.4 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ร้อยละ 3.4 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 สาเหตุเกิดจากสินเชื่อรายย่อย อย่างไรก็ตาม กลุ่มธนาคารมีนโยบายการจัดการความเสี่ยงด้านการให้สินเชื่อที่รัดกุม มาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการปรับปรุงแนวทางในการเรียกเก็บหนี้จากสินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีอยู่ และการแก้ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 อยู่ที่ร้อยละ 121.3 ลดลงจากสิ้นปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 124.2 ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 9.6 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1.5 พันล้านบาท
เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 31 มีนาคม 2567 มีจำนวน 59.7 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 20.8 โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 ร้อยละ 15.5
ที่มา: ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย