โดยมี รศ. น.สพ.ปานเทพ รัตนากร และคุณธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ เป็นประธาน ซึ่งในที่ประชุม ได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการและที่ปรึกษา TSPCA วาระปี 2567-2569 ดังนี้ คุณธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ เป็นนายสมาคมฯ รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ดร.เดวิด ไลแมน รศ.นุชทิพย์ บรรจงศิลป์ เป็นอุปนายกสมาคมฯ น.สพ.ดร.อลงกรณ์ มหรรณพ ศ.สพ.ญ.ดร.อัจฉริยา ไศละสูต น.สพ.ยันต์ สุขวงศ์ ว่าที่ ร.ต.สุรพล ดวงแข คุณสวรรค์ แสงบัลลังค์ คุณเจษฎา อนุจารี น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน คุณพรอัปสร นิลจินดา เป็นคณะกรรมการ รศ.ดร.น.สพ.ศิวะพงษ์ สังข์ประดิษฐ์ กรรมการและปฎิคม คุณอมร ชุมศรี กรรมการและนายทะเบียน คุณฌาร์ม โอสถานนท์ กรรมการและประชาสัมพันธ์ คุณปัทมา สารีบุตร กรรมการและเหรัญญิก โดยมี ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล ผู้อำนวยการและเลขาธิการ ในส่วนที่ปรึกษา เช่น คุณพิไลพรรณ สมบัติศิริ คุณกนิษฐ์ สารสิน คุณลัลน์ลลิตฤดี วิเศษศิริ คุณมาลินี แย้มวจี ดร.รัฐกานต์ วิชัยดิษฐ ดร.กิตติคุณ สารคล่อง ดร.ภมรชัย อภิชาตประคัลภ์ ดร.สุคนธา อรุณภู่ คุณกุลยา รัตนกิจรุ่งเรือง เป็นต้น
การนี้ได้มีการมอบโล่เชิดชูเกียรติผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสังคม และแสดงความยินดีแด่ รศ.น.สพ. ปานเทพ รัตนากร อุปนายกสมาคมฯ ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยคุณลัลน์ลลิตฤดี วิเศษศิริ นายกสมาคมสมาพันธ์นักข่าว(ประเทศไทย) เป็นผู้มอบ
ด้าน รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร อุปนายกสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) และประธานในที่ประชุม กล่าวว่า การที่ส่วนตัวได้เข้าร่วมงานกับสมาคมฯมาจนถึงปีนี้ 2567 นับได้ 20 ปี ตรงกับ 3 ทศวรรษของสมาคมฯ ผมเห็นความเปลี่ยนแปลง พัฒนา ก้าวหน้า และเป็นที่พึ่งของสังคม ดังผลงานสำคัญๆ คือการผลักดัน ยกร่าง รณรงค์และรวบรวมเสียงประชาชนคนรักสัตว์ผลักดันจนเกิดกฎหมายเพื่อป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ขึ้นเป็นครั้งแรกที่ใช้มาตราบจนทุกวันนี้ ยังผลให้มีการควบคุมและลงโทษผู้ฝ่าผืนสวัสดิภาพและทรมานสัตว์อย่างจริงจัง ลำพังกฎหมายข้อบังคับ ระเบียบ เท่านั้น ไม่เพียงพอ จำต้องมีการให้ความรู้และสร้างจิตสำนึก รัก และเมตตาต่อสัตว์ให้เกิดขึ้น มิใช่เฉพาะผู้ใหญ่ ทว่าจำเป็นต้องปลูกฝังกันมาตั้งแต่เด็กๆ กิจกรรม "ลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์" จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์นี้ ด้วยการริเริ่ม ผลักดัน สนับสนุน จนเป็นหลักสูตรที่ผ่านการรับรองในระดับชาติ ประกาศใช้เป็นหนึ่งในกิจกรรมลูกเสือของโรงเรียนอย่างเป็นทางการ และแพร่หลายขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้หนึ่งในกฎของลูกเสือคือ "ต้องมีเมตตาต่อสัตว์" นั่นคือการสร้างคนที่จะเป็นอนาคตของชาติ เด็กและเยาวชนที่เข้าใจ ตระหนัก ประพฤติด้วยความเมตตาต่อสัตว์ ย่อมโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่เมตตา กรุณาต่อผู้อื่น ยังความเป็นสุขแก่สังคม ไร้การทำทรมานแก่สัตว์
ผมประทับใจในองค์ประกอบของกรรมการของสมาคมฯ อนุกรรมการ ผู้ปฏิบัติงาน และอาสาสมัคร ล้วนมาจากความหลากหลายของสาขาวิชา ความรู้ ความสามารถ อาชีพต่างๆ จึงเป็นแหล่งรวมความรู้ ความคิดด้านสวัสดิภาพสัตว์ ที่มิใช่เชิงวิทยาศาสตร์ แต่มีนานาศาสตร์เข้ามาบูรณาการกันอย่างข้ามศาสตร์ ผลก็คือมีการคิด วิเคราะห์ วิพากษ์ ถกแถลง วางแผน และปฏิบัติการที่ตอบโจทย์ปัญหาอันมาจากการทรมานสัตว์และการจัดสวัสดิภาพสัตว์อย่างทันท่วงที มีส่วนร่วม และมีประสิทธิภาพ สมาคมฯสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้และแนวคิดเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น เอกสารเผยแพร่ สื่อสาธารณะ กิจกรรมร่วมกับเครือข่ายคนรักสัตว์ และรายการต่างๆอย่างสม่ำเสมอมา ทำให้มีสถานะเป็นองค์กรด้านสัตว์ที่สามารถนำไปอ้างอิง เช่น การเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการต่างๆ เป็นผู้สอนและผู้สอบนิสิต นักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาของหลายสถาบัน หรือการทำงานศึกษาวิจัย ฯลฯ
ปัญหาการปล่อยสัตว์ในวัด หน้าวัด และจับสัตว์มาขายเพื่อปล่อย (เอาบุญ) เหล่านี้ ถูกนำมาเป็นกิจกรรมหลักที่สมาคมฯรณรงค์และแก้ไขอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง เพื่อลด ระงับการทรมานสัตว์เหล่านั้น ยังผลให้หน่วยงานศาสนาและองค์กรสงฆ์มีมติออกมาอย่างเป็นทางการให้ระงับกิจกรรมดังกล่าว แม้จะมีบางวัดที่ดำเนินการ แต่ยังมีอีกหลายแห่งที่ไม่เข้มงวด ซึ่งเป็นสิ่งที่สมาคมฯ และประชาชนต้องร่วมด้วยช่วยกันเฝ้าระวังและช่วยเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทำงานกันต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ เช่นเดียวกับการรณรงค์ไม่ทิ้งสัตว์ หมา แมว และสัตว์เลี้ยง อันจะเป็นบ่อเกิดแห่งสัตว์จรจัด อันเห็นได้จากภาพยนตร์สั้นคลิป วิดิทัศน์ รณรงค์ไม่ทิ้งสัตว์ที่สมาคมฯผลิตและเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง ฯลฯ
กิจกรรมต่อตัวสัตว์เอง สมาคมฯมีโครงการที่ช่วยเหลือบรรดาสัตว์จรจัดไร้บ้าน บาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือการทรมาน สัตว์ที่ประสบภัยธรรมชาติ สัตว์ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วน ฯลฯ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การสนับสนุนอาหารสัตว์และการดูแลสุขภาพสัตว์แก่บ้านพักพิงสัตว์ สถานสงเคราะห์สัตว์ต่างๆ รวมถึงองค์กรเอกชนที่ทำสาธารณะประโยชน์แก่สัตว์อื่นๆ ที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และตรวจสอบได้อีกด้วย
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของตัวอย่างภารกิจ กิจกรรม ผลงาน และผลสัมฤทธิ์ที่สมาคมเล็กๆสมาคมหนึ่งได้บำเพ็ญมาโดยตลอดเพื่อประโยชน์สุขของสัตว์ มนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมาเป็นระยะเวลาที่ไม่นานเลยสำหรับการแก้ปัญหาทั้งหลาย ยังต้องใช้เวลา และการสนับสนุนเพื่อเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน ผมมั่นใจและหวังว่าจะอีกกี่ทศวรรษก็ตามสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย หรือ TSPCA จักคงดำเนินงานอยู่เพื่อบรรลุเป้าหมายของ "สวัสดิภาพสัตว์" เพื่อก่อเกิด "สวัสดิภาพคน" ตลอดไป
ที่มา: Cape & Kantary Hotels