สวนส้มโอลุงแล เมืองชาละวัน คว้ารางวัลเกษตรกร GAP ดีเด่นแห่งชาติ ปี 67

อังคาร ๓๐ เมษายน ๒๐๒๔ ๑๕:๑๖
นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่าในปี 2567 กรมวิชาการเกษตร ได้คัดเลือกเกษตรกรดีเด่นในสาขาการผลิตพืช GAP เพื่อเป็นการยกย่อง ประกาศเกียรติคุณและเผยแพร่ผลงานให้สาธารณชนได้ทราบถึงแนวทางปฏิบัติ และยึดถือเป็นแบบอย่างทางด้านการเกษตรสำหรับการผลิตพืชตามมาตรฐาน GAP ให้เป็นแนวทางในการทำงานทางด้านการเกษตรของเกษตรกรไทย โดยในปี 2567 นี้ นายแล โพธิ์วัด เจ้าของแปลงผลิตส้มโอท่าข่อย หรือที่จะรู้จักกันในชื่อของ "สวนส้มโอลุงแล" ได้รับพิจารณาคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาสาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP)
สวนส้มโอลุงแล เมืองชาละวัน คว้ารางวัลเกษตรกร GAP ดีเด่นแห่งชาติ ปี 67

สวนส้มโอของนายแลมีพื้นที่ 15 ไร่ ตั้งอยู่ที่ หมู่บ้านวังกระโดน ตำบลโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร เดิมทีนายแลเป็นชาวนา แต่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมพื้นที่ปลูกนาข้าวทุกปีจึงปรับเปลี่ยนนามาทำสวนแบบจริงจังโดยปลูกส้มโอในพื้นที่ 15 ไร่ ไร่ละ 35 ต้น มี 3 พันธุ์ คือ ขาวแตงกวา 10 ไร่ ท่าข่อย 2.5 ไร่ และทองดี 2.5 ไร่ โดยได้ศึกษาหาความรู้ในการทำสวนส้มโอด้วยตนเอง เรียนรู้จากเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอในพื้นที่ใกล้เคียงในอำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร และเดินทางไปศึกษาดูงานสวนส้มโอที่จังหวัดนครปฐม และจังหวัดชัยนาท

นายแลได้ร่วมทำงานกับวิจัยกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร กรมวิชาการเกษตร โดยสวนของนายแลเป็นแปลงทดลองเทคโนโลยีด้านการผลิตส้มโอ ได้แก่ การทดสอบปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินส้มโอท่าข่อย และการจัดการศัตรูพืชส้มโอแบบผสมผสาน (IPM) นายแลสะสมประสบการณ์ เพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับการทำสวนส้มโออยู่สม่ำเสมอ และนำองค์ความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ ทำให้สวนส้มโอของนายแลได้รับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ส้มโอมาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI ส้มโอท่าข่อย เป็นการสร้างโอกาสและการเพิ่มมูลค่าทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งไม่ได้ปลูกส้มโอเพียงอย่างเดียวแต่ปลูกผลไม้ชนิดอื่นแซมภายในสวนด้วย เช่น ขนุน มะยงชิด และมะม่วง เน้นการทำสวนแบบมีรายได้หมุนเวียนตลอดปี เมื่อถึงช่วงที่ส้มโอออกผลผลิตจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อเพื่อนำไปขายส่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้สวนนายแลเป็นต้นแบบการผลิตส้มโอในจังหวัดพิจิตร

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า นายแลมีการวางแผนการจัดการพื้นอย่างเหมาะสมไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมต่อการปลูกพืช ใช้น้ำหมักชีวภาพและน้ำส้มสายชูในการป้องกันกำจัดแมลงลดการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมี ใช้วิธีกลในการกำจัดวัชพืช เช่น ตัดหญ้า ตัดแต่งกิ่ง ป้องกันศัตรูพืชโดยใช้วิธีผสมผสาน ส่วนโรคที่เฝ้าระวังและไม่ให้เกิดขึ้นคือ โรคแคงเกอร์ เมื่อเป็นในช่วงระยะแรกของการเจริญเติบโตของผลส้มจะทำให้ผลส้มแตกหรือร่วงตั้งแต่เล็ก ถ้าเข้าทำลายในระยะเมื่อผลส้มเจริญเติบโตแล้ว จะทำให้ผลส้มเป็นแผลจุดกระจายทั่วผิว ผลผลิตไม่มีคุณภาพ ไม่เป็นที่ยอมรับของตลาด รวมทั้งปัญหาที่พบมากในการปลูกส้มโอ คือ ผลผลิตจะออกมากในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวทำให้ราคาตกต่ำ นายแลจึงได้ริเริ่มการทำส้มโอคุณภาพสูง เพื่อการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ ปัจจุบันมีจุดรับซื้อส้มโอเพื่อการส่งออก ผลผลิตหลักคือส้มโอพันธุ์ท่าข่อยปริมาณผลผลิตที่ได้ต่อปี 30,000 กิโลกรัม เฉลี่ยจำหน่ายกิโลกรัมละ 15-20 บาท สามารถสร้างรายได้ 210,000 บาท/ปี รวมทั้งยังมีการจำหน่ายส้มโอตลาดออนไลน์ เป็นการสร้างรายได้เพิ่มสูงจากเดิมเป็นอย่างมาก และยังมีการพัฒนาต่อยอดผลผลิตส้มโอ โดยการรวมกลุ่มจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์พัฒนาและแปรรูปส้มโอท่าข่อยเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น สเปรย์นวด น้ำมันนวด และยาหม่อง สามารถลดการสูญเสียจากส้มโอตกเกรด สร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

พร้อมกันนี้ นายแลยังใช้วิธีการบังคับให้ส้มโอมีผลผลิตตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น ตรุษจีน สารทจีน ทำให้จำหน่ายส้มโอได้ราคาสูงกว่าการจำหน่ายส้มโอทั่วไปประมาณ 15% ของราคาปกติ โดยมีวิธีการดังนี้ ตัดแต่งกิ่งเป็นหลัก ซึ่งก่อนการตัดแต่งกิ่งจะงดให้น้ำประมาณ 3-5 วัน เช่น เริ่มตัดแต่งกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม (สำหรับเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงตรุษจีน) หรือเริ่มตัดแต่งกิ่งเดือนธันวาคม (สำหรับเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงสารทจีน) และต้องตัดแต่งกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ให้เสร็จภายใน 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้ใส่ปุ๋ยและให้รดน้ำอย่างสม่ำเสมอ ประมาณ 15 วัน ส้มโอจะแตกยอดและแทงช่อดอกและติดผล จะได้ผลผลิตส้มโอตามที่ตลาดต้องการ

"สวนส้มโอลุงแล เป็นสถานที่ศึกษาดูงานการผลิตส้มโอของจังหวัดพิจิตร โดยนายแลเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้เรื่องการผลิตส้มโอ การส่งเสริมเกษตรกรพัฒนาส้มโอท่าข่อยให้ได้คุณภาพ การป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน และการใช้น้ำหมักปลาและผลไม้ในการลดต้นทุนการผลิต ให้กับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และคณะดูงานต่างประเทศ ด้วยความสนใจใฝ่รู้พัฒนาตนเองด้านการเกษตร และมีความขยันหมั่นเพียร ทำให้นายแลประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพเกษตรกรตลอดมาและได้รับคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) โดยเตรียมเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี พ.ศ.2567 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 นี้"อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

ที่มา: กรมวิชาการเกษตร

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๐ เขตบึงกุ่มแจงประเด็นร้องเรียน - สร้างความเข้าใจการสั่งรื้ออาคารต่อเติมปากซอยนวมินทร์ 24
๑๖:๑๓ MOTHER เปิดฉากเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน ดีเดย์โรดโชว์ออนไลน์ 22 ม.ค.68
๑๖:๐๑ M STUDIO ขึ้นแท่นสตูดิโอผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหนังไทยอันดับ 1
๑๖:๐๐ จับตา จัดเก็บภาษีความเค็มขนมขบเคี้ยว เพิ่มทางเลือกสุขภาพ ลดเสี่ยงโรค NCDs
๑๕:๐๐ จุฬาฯ ร่วมกับ PMCU ชวนน้องๆนิสิต นักศึกษาทุกมหาวิทยาลัย ส่งผลงานออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์ อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ประกวดภายใต้แนวคิด Chula For
๑๕:๐๐ กลุ่มสมอทอง เข้าร่วมโครงการ Kick off การขับเคลื่อนปาล์มน้ำมัน
๑๕:๐๐ สจส. เร่งสร้างศาลาที่พักผู้โดยสารหน้าตลาดมีนบุรี
๑๕:๒๐ ลีเอนจาง คลินิก ตอกย้ำความเป็นผู้นำในวงการความงาม คว้ารางวัล Silver Shine ประเดิมศักราชใหม่! ในงาน Nebula Nova: The New Star of
๑๔:๑๗ กลุ่มไทยรุ่งเรือง ส่งน้ำตาลแบรนด์ ษฎา สร้างสีสันงานเทศกาลตรุษจีนเยาวราช 2568 พร้อมเปิดตัวน้ำตาลกรวดธรรมชาติ
๑๔:๔๓ อลิอันซ์เปิด Allianz Risk Barometer 2025 เผยปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจไทยชูอัคคีภัยและการระเบิดขึ้นแท่นความเสี่ยงอันดับหนึ่งทางธุรกิจ